ธปท. ชี้ โควิดระลอกใหม่ ฉุดการบริโภค-ลงทุนเอกชนเดือน ม.ค. หดตัว

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนมกราคมเครื่องชี้หลายตัวชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ การบริโภค-การลงทุนเอกชนหดตัว สอดคล้องกับกิจกรรมเศรษฐกิจ-กำลังซื้อหดตัว เกาะติดมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อครัวเรือน ด้านส่งออกยังโตได้ 5.5% อานิสงส์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า พร้อมปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจเดือนมี.ค.นี้

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนายการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้หลายตัวเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก โดยธปท.จะมีการทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และจะมีการเผยแพร่ในปลายเดือนมีนาคมนี้

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนมกราคม จะพบว่าการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงเหลือ 1.6% จากเดือนธันวาคมอยู่ที่ 6.1% ตามการลงทุนเครื่องจกรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นธุรกิจที่ลดลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวทุกหมวดการใช้จ่าย โดยหดตัว -3.7% จากเดือนก่อนหดตัว -3.4% เป็นผลมาจากระบาดระลอกใหม่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง

ขณะที่ภาคผลิตอุตสาหกรรมหดตัวอยู่ที่ -2.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทรงตัวเมื่อเทียบเดือนธันวาคม โดยหมวดที่หดคัวจะเป็นอาหารเครื่องดื่ม เป็นผลมาจากการผลิตน้ำตาล ปีโตเลียมจากน้ำมันเครื่องบิน รวมถึงหมวดยานยนต์ที่กลับมาหดตัวครั้งแรกจากยอดขายรถยนต์ที่ปรับลดลง

สำหรับภาคการส่งออกเห็นการฟื้นตัวเนื่องโดยขยายตัวอยู่ที่ 5.5% (ไม่รวมทองคำ) เป็นผลมาจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโต และการส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศ โดยธปท.มองว่าการส่งออกจะยังคงฟื้นตัวต่อไประยะข้างหน้า เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว และบรรยากาศการค้าโลกยังดีอยู่ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาหดตัว -6.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการนำเข้าหดตัวสูง -11.1% ตามการนำเข้าที่หดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้าสำคัญจากผลของฐานสูงในปีก่อน

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการอยู่ที่ 2.2% สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 0.3% ตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาขยายตัวได้ 13.6%

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงจากผลของการระบาดระลอกใหม่ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่สูงขึ้นอยู่ที่ 3.4% สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน


“เศรษฐกิจเดือนมกราคมเครื่องชี้หลายตัวเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นจากผลกระทบการระบาดระลอกใหม่ของโควิด แต่ผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ารอบแรก โดยระยะข้างหน้าต้องติดตามมาตรการในส่วนของมาตรการเยียวยาผ่านโครงการคนละครึ่ง และการเพิ่มวงเงินสวัสดิการแห่งรัฐ เข้ามาช่วยเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือน และรวมถึงต้องติดตามโครงการ เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ระดับใด อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน”