รัฐบาลกุมขมับภาระชดเชยพุ่ง ค้างหนี้ “ธกส.-ออมสิน” แสนล้าน

รัฐบาลกุมขมับภาระชดเชยใกล้เต็มเพดาน “วินัยการคลัง” ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30% ของงบฯรายจ่ายประจำปี หลังล่าสุด ครม.อนุมัติกรอบจ่ายชดเชย “สินเชื่อกู้ภัยโควิด” กรณีเกิดหนี้เสียไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลติดหนี้ 2 แบงก์รัฐอยู่กว่า 1.05 แสนล้านบาท จากการให้ “ออมสิน-ธ.ก.ส.” ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารออมสิน 1 หมื่นล้านบาทและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาภาระประชาชนรายย่อย และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบ 3

โดยผู้กู้สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุดรายละ 1 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

“สินเชื่อสู้ภัยโควิด รัฐบาลกำหนดว่าจะชดเชยกรณีเกิดหนี้เสีย (NPL) ให้ 50% หรือรวมแล้วไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินปล่อยสินเชื่อของทั้ง 2 แบงก์ ที่ตั้งไว้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ขณะนี้ภาระการชดเชยค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2564 เพิ่มมาอยู่ที่ 29.01% หรือมียอดคงค้างของภาระชดเชยทั้งสิ้นกว่า 9.53 แสนล้านบาท ใกล้จะเต็มเพดานที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังที่กำหนดให้ภาระชดเชยต้องไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลในปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารออมสินกับ ธ.ก.ส. มีหนี้ที่รอการชดใช้จากรัฐบาลรวมกันกว่า 1.05 แสนล้านบาท

แบ่งเป็นธนาคารออมสินประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส.อีกกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งปกติรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณชดใช้คืนให้ภายในเวลา 5 ปี

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้สินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นในส่วนของธนาคารออมสิน 2 หมื่นล้านบาท

ขณะนี้ปล่อยสินเชื่อช่วยลูกค้ารายย่อยได้กว่า 1.9 ล้านราย และ ธ.ก.ส.อีก 2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อแล้ว 8 แสนราย นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับธนาคารออมสิน กรณีการดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ที่ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท รัฐบาลจะดูแลกรณีเกิดหนี้ NPL โดยจะชดเชยให้ 30% และสินเชื่อฉุกเฉิน กู้ได้เกิน 1 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งรัฐบาลรับผิดชอบกรณีเป็น NPL 50%

ส่วนซอฟต์โลน วงเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยออมสินปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงิน ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปล่อยกู้ผู้ประกอบการต่อในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% รัฐบาลชดเชยต้นทุนให้ออมสิน 2%

“รัฐบาลจะตั้งงบประมาณใช้คืนให้ออมสิน เฉลี่ยปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ทั้งการชดเชยเงินต้นและดอกเบี้ย โดยรัฐบาลจะทยอยใช้คืนออมสินตาม NPL ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการใช้คืน

โดยจะแตกต่างจาก ธ.ก.ส. ที่รัฐบาลจะต้องใช้คืนให้ทั้งหมด เพราะโครงการที่ ธ.ก.ส.ออกไปเป็นการจ่ายเงินไปให้ก่อนทั้งหมด เมื่อรัฐใช้คืนจึงต้องใช้คืนให้ทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อให้ ธ.ก.ส.มีงบประมาณ สามารถดำเนินงานตามนโยบายของรัฐได้ต่อเนื่อง แต่หากรัฐบาลจ่ายช้าหรือไม่ชำระหนี้ จะถือเป็นเรื่องอันตรายต่อแบงก์”

สำหรับ ธ.ก.ส. ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้จ่ายคืนให้ 80,000 ล้านบาท โดยแต่ละปี รัฐบาลจะตั้งงบประมาณใช้คืนให้ ธ.ก.ส. เฉลี่ยประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท

“จากการดำเนินงานในปีบัญชี 2563 (1 เม.ย. 2563-31 มี.ค. 2564) ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.มีหนี้ที่รอการชดใช้จากรัฐบาลกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการต่าง ๆ ทั้งการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์ม และยางพารา, โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี, โครงการพัฒนาชุมชนจัดการข้าว และชดเชยสถาบันเกษตรกร เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว