ฮั่วเซ่งเฮงชี้ “เดือนมิถุนายน” ทองคำยังเป็นขาขึ้น

ทองคำ-ทองรูปพรรณ
คอลัมน์สถานีลงทุน

ธนรัชต์ พสวงศ์ 
ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ราคาทองคำปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดนับตั้งแต่เปิดปีใหม่ ขณะที่เดือนพฤษภาคมทองคำให้ผลตอบแทนดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยทองคำ spot เพิ่มขึ้น 7.74% เมื่อเทียบรายเดือน และทองแท่งเพิ่มขึ้น 7.85% เมื่อเทียบรายเดือนโดยที่ราคาทองคำ spot ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง ทะลุแนวต้าน 1,900 ดอลลาร์

ทองคำมีปัจจัยบวกหลายปัจจัย ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี หรือ bond yield ลดลง ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้จากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่เร่งตัวสูงขึ้น โดยดัชนีราคา PCE พื้นฐานของสหรัฐ เดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบรายปี เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดที่ตั้งไว้ 2% และกองทุนอีทีเอฟทองคำกลับมาซื้อสุทธิในทองคำ โดยกองทุน SPDR Gold Trust ซื้อสุทธิในทองคำ 26 ตัน

อย่างไรก็ดี ทองคำมีปัจจัยลบคือการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่ากรรมการเฟดส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มปรับลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

แนวโน้มราคาทองคำ spot เดือนมิถุนายน คาดยังปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยมีแนวต้านที่ 1,920-1,930 ดอลลาร์ และแนวต้านสำคัญ 1,950-1,960 ดอลลาร์ แต่อาจต้องระวังแรงเทขายทำกำไรบ้าง หลังจากที่ราคาทองคำปรับขึ้นราว 230 ดอลลาร์ ภายในเวลาเพียง 2 เดือน ซึ่งราคาทองคำมีแนวรับ 1,870 ดอลลาร์ และแนวรับสำคัญ 1,850 ดอลลาร์

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาทองคำในเดือนมิถุนายน ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น การแถลงของประธานเฟด และการจ้างงานของสหรัฐเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ การประชุมเฟดน่าจะเป็นการประชุมที่ตลาดจับตามองเป็นพิเศษของปีนี้ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนเมษายนพุ่งสูงขึ้น จะมีผลให้เฟดตัดสินใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ รวมทั้งประเด็นเรื่องการปรับลดวงเงินในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จะเริ่มทำเมื่อไหร่

ทั้งนี้ ถ้าเฟดมีการส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินคาดว่าอาจจะส่งผลลบต่อราคาทองคำ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเฟดยังย้ำว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป คาดว่าจะยังช่วยหนุนต่อราคาทองคำ

นอกจากนี้ การจ้างงานของสหรัฐเดือนพฤษภาคมจะทำให้ราคาทองคำผันผวนได้ ในกรณีที่การจ้างงานออกมาแตกต่างจากที่ตลาดคาดไว้มาก

ซึ่งตลาดคาดการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤษภาคมจะเพิ่มขึ้น 650,000 ตำแหน่ง ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ความต้องการเพื่อการลงทุนในส่วนทองแท่งและกองทุนอีทีเอฟทองคำยังเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำเช่นกัน