รื้อกฎหมายล้มละลายอุ้ม SME ฝ่าวิกฤต ปลดล็อก 3 เงื่อนไขฟื้นฟูกิจการ

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

รัฐบาลเร่งแก้กฎหมายล้มละลายรับมือธุรกิจเจอวิกฤตสภาพคล่อง จากพิษโควิด เปิดช่องต่อลมหายใจ “เอสเอ็มอี” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ให้ถูกฟ้องยึดทรัพย์ หรือล้มละลาย ปลดล็อก 3 เงื่อนไขหลัก “เอสเอ็มอีไม่ต้องจดทะเบียน สสว.-ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนทำแผนฟื้นฟู-กระบวนการฟื้นฟูแบบเร่งรัด” เปิดทางให้เอสเอ็มอี 3 ล้านรายเข้าถึงการฟื้นฟูกิจการ เผยไตรมาส 2/64 สินเชื่อเอสเอ็มอีมีหนี้เสีย 2.42 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่…) พ.ศ. … (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้)

และผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิรูปในระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินได้รับโอกาสฟื้นฟูกิจการและไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย อันจะเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน

แก้ กม.ล้มละลายอุ้ม SMEs

นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป้าหมายการปรับแก้กฎหมายล้มละลายในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นในนามบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนจำกัดและนิติบุคคลสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ง่ายกว่าเดิม

รวมทั้งปรับคุณสมบัติของเอสเอ็มอีที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อรองรับกับผลกระทบจากวิกฤตโควิดที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลางได้

โดยการเสนอแก้ไขกฎหมายล้มละลายครั้งนี้ เป็นการแก้ในหมวดฟื้นฟูกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีการบัญญัติเพิ่มเติมไว้เมื่อปี 2559

อย่างไรก็ตามข้อกำหนดและกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ยังมีข้อจำกัดทำให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ยาก โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลเพียง 7 รายเท่านั้น และมีเพียง 2 รายจัดทำตามแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จ

ปลดล็อก 3 เงื่อนไข

เป้าหมายของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีหลักการสำคัญในการสร้างกลไกให้ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับการฟื้นฟูกิจการธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ลดขั้นตอนและใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า

กระทรวงยุติธรรมจึงมีการเสนอปรับแก้กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีลักษณะเป็น SMEs ดังนี้

1.ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกหนี้ที่เป็น SMEs ต้องขึ้นทะเบียนกับ “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” (สสว.) หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ จึงจะสามารถร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้

2.กำหนดให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้ โดยที่ยังไม่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และลูกหนี้สามารถยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวอยู่ใน “สภาวะการพักหนี้” ก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้

3.กำหนดให้มีกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และลูกหนี้ที่เป็น SMEs สามารถเลือกยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดได้ โดยแนบแผนพร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับแผนแล้ว(prepackaged plans) โดยให้ศาลพิจารณาคำร้องขอเป็นการด่วน

นอกจากนี้หากศาลมีคำสั่งยกคำร้องเพราะแผนไม่เข้าหลักเกณฑ์ ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการอีกได้ โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อห้าม เรื่องระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลยกคำร้อง

ขยายมูลหนี้ไม่ถึง 50 ล้าน

อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวว่า ขณะเดียวกันได้มีการขยายมูลหนี้ของธุรกิจที่สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการในหมวดเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันกำหนดต้องมีหนี้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ปรับแก้เป็นมูลหนี้ไม่ถึง 50 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและครอบคลุมธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะเข้าสู่การฟื้นฟูได้มากขึ้น เพราะในกรณีธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีมูลหนี้ 30-40 ล้านบาท หากจะยื่นขอฟื้นฟูกิจการในกระบวนการของกฎหมายฟื้นฟูกิจการขนาดใหญ่ ที่ต้องมีการตั้งผู้ทำแผนจะเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยาก

พร้อมกันนี้ในส่วนของกระบวนการฟื้นฟูกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่สามารถร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ ปัจจุบันระบุมูลหนี้ “จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท” ก็จะปรับแก้เป็น “ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” เพื่อให้สอดคล้องกัน

ทั้งนี้การเพิ่มจำนวนหนี้อ้างอิงจากข้อมูลเชิงสถิติระหว่างปี 2560-2563 คดีที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูธุรกิจขนาดใหญ่มีจำนวนหนี้มากกว่า 50 ล้านบาท กว่า 90% ของคดีทั้งหมด

คุ้มครองพักหนี้ก่อนยื่นแผน

นางอรัญญาอธิบายเพิ่มเติมว่า กฎหมายปัจจุบันกระบวนการฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอี มีข้อกำหนดที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี “เข้าไม่ถึง” การฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ “ลูกหนี้” ต้องเป็นผู้ทำแผน และต้องนัดเจ้าหนี้สถาบันการเงินทุกรายมาประชุมร่วมกัน เพื่อเห็นชอบแผนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของมูลหนี้รวม จึงสามารถยื่นแผนฟื้นฟูดังกล่าวต่อศาลและขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวต่อสินทรัพย์ได้ และในกรณีเจ้าหนี้ไม่มาร่วมประชุมให้ถือว่า “ไม่เห็นชอบกับแผน” จึงทำให้การยื่นขอฟื้นฟูของธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นไปได้ยาก

“ที่ผ่านมาการทำแผนฟื้นฟูของลูกหนี้เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ก็จะติดปัญหาเจ้าหนี้มาประชุมไม่ครบ เช่นมาเพียง 1-2 รายจากทั้งหมด 5 ราย ก็ทำให้ยากที่แผนฟื้นฟูไม่ผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ ก็ทำให้ลูกหนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการทำแผนฟื้นฟูที่จะยื่นต่อศาลได้”

ดังนั้นในครั้งนี้จึงมีการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยให้ “ลูกหนี้ที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาล” “คุ้มครองชั่วคราว” ได้ก่อน หรือที่เรียกว่า Automatic Stay เป็น “สภาวะพักชำระหนี้” เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินการฟื้นฟูกิจการได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้องหรือบังคับคดีจากเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้มีเวลา 3 เดือนในการจัดทำแผนฟื้นฟูร่วมกับเจ้าหนี้

นอกจากนี้ได้มีการแก้ข้อกำหนดในการนับเสียงโหวตเป็น 2 ใน 3 ของมูลหนี้จากเจ้าหนี้ที่มาประชุมเท่านั้น ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ทำให้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ต้องมาประชุมรับฟังแผนฟื้นฟูของลูกหนี้เพื่อรักษาสิทธิ์ ในมุมนี้อย่างน้อยก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสเจรจาและเสนอแผนฟื้นฟู

“ขาดสภาพคล่อง” ยื่นฟื้นฟูได้

อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวเพิ่มเติมว่า การยกเลิกข้อกำหนดว่าลูกหนี้เอสเอ็มที่จะยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ต้องเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องขึ้นทะเบียนกับ สสว. หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงกระบวนการฟื้นฟูได้มากขึ้น

นอกจากนี้คุณสมบัติผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะยื่นศาลขอฟื้นฟูกิจการ ไม่จำเป็นต้องมี “หนี้สินล้านพ้นตัว” เหมือนการฟื้นฟูกิจการใหญ่ เพียงแต่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดกระแสเงินสดไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็สามารถยื่นขอเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการได้ เพื่อที่จะมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ เพื่อที่จะให้ธุรกิจมีช่องหายใจและสามารถดำเนินต่อไป ไม่ต้องถูกเจ้าหนี้บังคับคดีหรือล้มละลาย

ข้อดีขอการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ศาล คือเนื่องจากเอสเอ็มอี ที่มีเจ้าหนี้หลายราย หากไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้ศาลการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จะตกลงกันได้ยาก และเจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะมีหลักประกันก็เน้นมองเรื่องการยึดหลักประกัน

อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อกำหนดเดิมหากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนฟื้นฟู ทำให้ศาลต้องสั่ง “ยกเลิกการฟื้นฟู” ซึ่งกฎหมายเดิมทุกอย่างจะกลับไปที่เดิม คือมูลหนี้ก็จะกลับไปที่ก่อนปรับโครงสร้างหนี้

แต่ร่างแก้ไขนี้กำหนดให้มูลหนี้ “ผูกพันตามแผนฟื้นฟู” คือจะยึดจากที่มีการทำข้อตกลงลดหนี้ให้เหลือเท่าไหร่ ยืดหนี้ให้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้มีช่องหายใจ

อย่างไรก็ดี เมื่อยกเลิกการฟื้นฟูตามคำสั่งศาล เจ้าหนี้ก็จะสามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ แต่ก็อยู่บนตัวเลขหนี้ใหม่ที่มีการตกลงกันไว้

สถิติคดีล้มละลายปี 2563 พุ่ง

ขณะที่ข้อมูลจากศาลล้มละลายกลาง เปิดเผยสถิติคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลางในปี 2563 พบว่ามีจำนวน 9,171 คดี ทุนทรัพย์ (มูลหนี้) 836,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ก่อนเกิดโควิดมีคดีล้มละลาย จำนวน 8,398 คดี ทุนทรัพย์ 386,964 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของคดีฟื้นฟูกิจการมีจำนวน 39 คดี ทุนทรัพย์ 566,760 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของธุรกิจโรงแรมที่พัก ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักโรงแรม โดยสมาคมโรงแรมไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวน 215 แห่ง พบว่า 52% เลือกปิดกิจการชั่วคราว และมีราว 9% ที่ระบุว่า อาจจำเป็นต้องปิดกิจการถาวร

หนี้เสียเอสเอ็มอี 2.42 แสนล้าน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า สำหรับภาพรวม “สินเชื่อเอสเอ็มอี” ของระบบธนาคารพาณิชย์ 29 แห่ง (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ซึ่งเป็นไปตามนิยามปรับปรุงใหม่ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่ายอดสินเชื่อคงค้าง ณ ไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 3.17 ล้านล้านบาท

ขณะที่ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มูลค่าคงค้างอยู่ที่ 2.42 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.64% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่มูลค่าคงค้างอยู่ที่ 2.37 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 7.24% ของยอดสินเชื่อรวม

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้เสียของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีขณะนี้ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากที่ผ่านมา ธปท.และสถาบันการเงินมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสิ้นสุดมาตรการก็เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจเผชิญปัญหาวิกฤตสภาพคล่องมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจสร้างรายได้ได้เหมือนเดิม

ดังนั้นหากการแก้ไขกฎหมายล้มละลายในส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีออกมา ก็เชื่อว่าจะช่วยพยุงให้ธุรกิจมีทางออกมากขึ้น

ทั้งนี้ฐานข้อมูลของเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. มีอยู่กว่า 1 ล้านราย จากผู้ประกอบเอสเอ็มอีทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านราย