อาทิตย์ นันทวิทยา เปิดแผนใหญ่ แปลงร่าง SCB เป็น SCBX

อาทิตย์ นันทวิทยา

“อาทิตย์ นันทวิทยา” เปิดแผนแปลงร่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นบริษัท SCBX

ค่ำวานนี้ (22 ก.ย. 2564) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ โดยจะจัดตั้งบริษัท SCBX (เอสซีบี เอกซ์) ขึ้นมาเป็นหัวหอกการลงทุน ทลายขีดจำกัดความเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนธนาคารไทยพาณิชย์เดิม และภายใต้ SCBX จะประกอบไปด้วยบริษัทย่อย ๆ อีกราว 15 บริษัท ลุยทำธุรกิจหลากหลายด้าน ทั้งนี้ จะต้องมีการขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการดำเนินการปรับโครงสร้างทั้งหมดนี้อีกที

โดยคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ได้อนุมัติกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 ในวันจันทร์ที่ 15 พ.ย. 2564 นี้ เวลา 14.00 น. เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินไทยพาณิชย์และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้าธุรกิจยุคใหม่หลุดข้อจำกัดแบงก์

โดย “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ทำเรื่อง Transformation ผ่านยุทธศาสตร์ “กลับหัวตีลังกา” (Going Upside Down) ซึ่งจะช่วยทำให้ทั้งกลุ่มสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาว แต่ภายหลังผ่านมา 4-5 ปี การจัดการงานภายใต้ Transformation ที่อยู่บนโครงสร้างธนาคารมีข้อจำกัด ทำให้ศักยภาพของทั้งกรุ๊ปทำได้ไม่เต็มที่

ดัน SCBX เรือธงใหม่สู่เทคคอมปะนี

จึงเป็นที่มาที่คณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ธนาคาร ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอผู้ถือหุ้นในการจัดตั้งบริษัท SCBX ขึ้นมาเป็นบริษัทยานแม่ หรือ Mother Ship เพื่อเป็นเรือธงในการลงทุนกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยจะมีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นหลังจากนี้

“การจัดตั้งบริษัท “SCBX” หรือ “ยานแม่” ขึ้นมา เพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยดำเนินธุรกิจในลักษณะ “บริษัทลงทุน” ที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเอง (Non-operating holding company) โดยจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น และพาให้ SCB ก้าวสู่โลกใหม่ที่ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป” นายอาทิตย์กล่าว

เดิมพันครั้งสำคัญลุ้น “ผู้ถือหุ้น” อนุมัติ พ.ย.นี้

โดย “อาทิตย์” บอกว่า การจัดตั้ง “SCBX” จะต้องขออนุมัติจากผู้กำกับดูแล (Regulator) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในหลักการแล้ว แต่จะต้องมีการอนุมัติ (Approve) อีกครั้ง รวมถึงการขอความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นในการอนุมัติ ซึ่งจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในเดือน พ.ย.นี้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จะเป็นไปตามที่บอร์ดมีมติเห็นชอบ 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1.เสนอการจัดตั้งบริษัทใหม่ “SCBX” ซึ่งจะเป็นบริษัทแม่ ที่ไม่ใช่ ธนาคาร 2.ขอมติผู้ถือหุ้นในการทำโอนแลกหุ้น (Share Swap) โดย “SCBX” จะทำคำเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารจากผู้ถือหุ้นของธนาคาร เพื่อให้ผู้ถือหุ้นธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นเรือธง “SCBX”

“หากผู้ถือหุ้นโหวตเห็นด้วยในการประชุมเดือน พ.ย. ต้องไม่น้อยกว่า 90% ผู้ถือหุ้นธนาคารจะกลายเป็นผู้ถือหุ้น “SCBX” ในกรณีที่มีผู้ถือหุ้นเสนอน้อยกว่า 90% มติทุกอย่างจะล้มเลิกทันที” นายอาทิตย์กล่าว

ดัน SCBX เข้าตลาดหุ้นแทนแบงก์

3.การนำ “SCBX” เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แทนหลักทรัพย์ของธนาคาร ซึ่งจะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ถูกเพิกถอนออกจาก ตลท. โดยจะนำ “SCBX” เข้าเทรดแทน และ 4.เสนอผู้ถือหุ้นธนาคารจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับ “SCBX” วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท โดยประมาณ 70% จะใช้ในการโอนธุรกิจบริษัทย่อย การจัดตั้งบริษัทใหม่ และเป็นเงินลงทุนต่อเนื่องสำหรับ “SCBX” ในการหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคตระยะถัดไป และที่เหลืออีกราว 30% จะเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) และเงินปันผล (Dividend) ภายในกลางปี 2565

“การขออนุมัติผู้ถือหุ้นจะมี 3-4 เรื่อง หากผู้ถือหุ้นตัดสินใจ Share Swap ผู้ถือหุ้นธนาคาร จะกลายเป็นผู้ถือหุ้น SCBX หลังเดือน พ.ย. โดยเงินปันผล 7 หมื่นล้านบาท จะวิ่งไปที่ SCBX ซึ่งไม่ใช่เอาเงินปันผลไปจ่ายให้ผู้ถือหุ้น SCBX แต่จะนำไปทำในเรื่องจัดตั้งบริษัทใหม่ และการโอนธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และบริษัทอีกหลายบริษัทที่ธนาคารถือหุ้นอยู่ว่า 70% และที่เหลืออีก 30% ในช่วงกลางปี 65 จะเป็นเทศกาลจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น SCBX” นายอาทิตย์กล่าว

แยก 2 โครงสร้างธุรกิจหลักปั้นกำไร

โดยโครงสร้างหลังจากนี้ภายใต้ SCBX จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.Cash cow ธุรกิจที่ทำกำไร จะเป็นธนาคาร และ 2.New Growth การเติบโตใหม่ โดย “SCBX” จะเน้นการเติบโต โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังในเรื่องของฐานเงินทุน และผู้ฝากเงิน โดยการเดินจะเน้นการทำงานสั้น มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุน โดยสามารถเลือกกลุ่มการเติบโต หรือ segment Product ได้ ทำให้การ Disruption น้อย โดยให้ธนาคารสามารถเดินต่อไปได้ด้วยความมั่นคง และลูกค้าจะไม่สับสนว่าธนาคารทำอะไรอยู่ ซึ่งธนาคารจะเป็น Cash cow เพื่อสร้างรายได้และผลกำไร (Earning)

ส่วนบริษัท “SCBX” จะเน้นการเติบโตใน 2 พื้นที่ด้วยกัน คือ 1.Blue Ocean ตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตทั้งในและต่างประเทศ โดยจะไม่เน้นการขยายสาขาไปยังต่างประเทศ แต่จะเน้นการเติบโตในตลาดทีมีโอกาส เช่น ธุรกิจรายย่อย (Retail) หรือบริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (Card X) ซึ่งจะแยกตัวออกมาจากธนาคาร (Spin off) โดยจะหารายได้อีกใน 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่การเดินไปสู่ภูมิภาค (Regional) จะมองในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยจะต้องมองการทำธุรกิจทั้งลึกและกว้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

และ 2.การสร้าง Platform Ecosystem ทั้งในและต่างประเทศ เช่น โรบินฮู้ด ที่จะผลักดันสู่ภูมิภาคแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และการเข้าสู่เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ผ่านบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB10X) และบริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ที่จะมีการ Transform ซึ่งเป็นเรือธงในการทำเรื่อง Digital Asset โดยโฟกัสการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และเน้นเรื่องการลงทุน (Investment)

ซึ่งล่าสุดได้จับมือกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพีจี) ในการจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนใน financial Technology ในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น

“ดังนั้น การเติบโตในส่วนของธนาคารและบริษัท จะเห็นว่าในรูปแบบธนาคารจะสร้างในมิติของรายได้ earning และ return on equity หรือ ROE ของทั้งกรุ๊ป ส่วนที่ 2 New Growth จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งของที่เราเข้าไปลงทุน” นายอาทิตย์กล่าว

เป้าขยายฐานลูกค้า 200 ล้านราย

สำหรับเป้าหมายใหม่ของไทยพาณิชย์ คือ The Most Admired Financial Technology Group In ASEAN โดยภายในปี 2568 หรืออีก 5 ปีข้างหน้ามีวิสัยทัศน์ว่าจุดเริ่มต้นของธนาคารมีฐานลูกค้าราว 16 ล้านราย จะเพิ่มเป็น 200 ล้านราย กำไร 1.5-2 เท่า มูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาท และยกระดับจาก Regional สู่ International โดยไปด้วย “ยานแม่” หรือ “SCBX”

เฟ้นธุรกิจใหม่ไม่หยุดยั้ง

นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า บทบาท “SCBX” จะมีอยู่ 4 เรื่อง คือ 1.การสร้างและพัฒนาธุรกิจใหม่ หรือ Business development โดยการจัดตั้งทีมไทยและต่างประเทศ เพื่อสแกนหาธุรกิจใหม่ที่เติบโต Blue Ocean 2.การจัดหาเงินทุน (Capital Management) โดยบริษัทในเครือจะมีรูปแบบการหารายได้ และจะเอาเงินทุนที่ได้มาจัดสรรเพื่อไปใช้ในธุรกิจ เช่น บริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS) ที่จะมีการระดมทุนในระดับ Series A ซึ่งหน้าที่ Capital Management จะมีความสำคัญมาก

และ 3.การรวมข้อมูล (Data integration) โดยจะมีการจัดตั้งบริษัท Data X ภายในเร็ว ๆ นี้ และ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพและการปฏิบัติตาม (Optimize) และ (compliance) เนื่องจากกรุ๊ปทำหลากหลายธุรกิจ จึงต้องมีบทบาทในการปฏิบัติตามผู้กำกับดูแล (Regulator) ในทุกมิติ

ส่งผู้บริหารนั่งซีอีโอบริษัทย่อย

สำหรับการตั้งบริษัทย่อยและบริษัทที่รับโอนธุรกิจจากธนาคาร จะประกอบด้วย 1.บริษัท เอไอเอสซีบี (AISCB) บริษัทร่วมทุนกับ AIS ถือหุ้น 50:50 ทำเรื่อง digital Lending ภายใต้ฐานลูกค้าของทั้ง 2 องค์กร และจะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป

2.การจับมือกับ ซีพีจี ตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านดอลลาร์ เพื่อโฟกัสเรื่อง Digital Asset โดยอยู่ภายใต้ ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์

3.บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ (Alpha X) ร่วมทุนกับ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด โดยจะเน้นธุรกิจ Luxury Car ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต Blue Ocean และในระยะถัดไปจะขยายไปสู่ธุรกิจใกล้เคียงอื่น โดยบริษัทจะอยู่ภายใต้ นายวศิน ไสยวรรณ เป็นซีอีโอ ซึ่งจะออกจากตำแหน่งในธนาคาร

4.บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ (SCB Tech X) โดย SCBX จะถือหุ้น 60% และบริษัท พับลิซิส เซเปียนท์ ซึ่งเป็นเทคคอมพานี จะถือหุ้น 40% โดยจะทำหน้าที่เพิ่มขีดความสามารถ และการดูแลแพลตฟอร์ม และดูเรื่อง บล็อกเชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจะมีนายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป เป็นซีอีโอ

5.บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (Card X) เป็นการโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลออกจากธนาคาร โดยจะขับเคลื่อนบริษัทให้มีการเติบโตหลายเท่า โดยจะมี “นายสารัชต์ รัตนาภรณ์” เป็นซีอีโอ

6.บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด (Auto X) ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการเรื่องสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน (Car Title loan) โดยจะขยายเข้าสู่กลุ่มรากหญ้า จะมีลักษณะคล้าย My Car My Cash ที่อยู่ในธนาคาร ซึ่งจะมี นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ เป็นซีอีโอ

ทุ่ม 7 หมื่นล้านบาท “Re Imaging”

ทั้งนี้ ภายใต้โปรเจ็กต์นี้ เรียกว่า “Re Imaging” การสร้างภาพใหม่ และจินตนาการอื่น ๆ ของเอสซีบี เพื่อสร้างยานแม่ใหม่ โดยเม็ดเงินเบื้องต้น 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจต้องใช้มากกว่านี้ เนื่องจาก SCBX จะจัดการในการหยอดเม็ดเงินในธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น หรือการตั้งบริษัทใหม่ ภายหลังจากมีการเติบโตจำเป็นต้องใส่เงินเพิ่ม โดยเบื้องต้นมีบริษัททั้งหมด 15-16 บริษัท ซึ่งยังไม่หมด และจะมีบริษัทที่จะทยอยออกมาพอสมควร และในทุกบริษัทจะมีอิสระในการทำธุรกิจ เหมือนเถ้าแก่น้อย และมีแรงจูงใจ โดยทุกบริษัทจะเดินทางและขยายสู่บริษัทจดทะเบียนใน ตลท.ภายใน 3-5 ปีหลังจากนี้

“โดยทั้งหมดนี้ ธปท.เห็นชอบในหลักการแล้ว เหลือรออนุมัติทางการอีกครั้ง ซึ่ง SCBX จะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ส่วนการใช้ไลเซ่นส์ (ใบอนุญาต) จะขึ้นอยู่กับบริษัทย่อย รวมถึง ธปท.สามารถวิ่งคุยกับบริษัทลูก เช่น SCB Bank หรือ AutoX, CardX ก็ได้เช่นกัน แต่ภาพรวม Consolidate จะอยู่ที่ SCBX และธนาคารก็ยังจะคงอยู่ต่อไป เป็น Siam Commercial Bank มีสาขา สำนักงานใหญ่ ฐานเงินทุนในระดับแข็งแรง โดยไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป และโครงสร้างธนาคารในปีนี้ “นายอาทิตย์ นันทวิทยา” ยังคงเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร” แต่ในระยะต่อไปจะมีการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพมาบริหาร” นายอาทิตย์กล่าว