การยาสูบฯ พร้อมปรับราคาบุหรี่ตามภาษีใหม่ เล็งออกผลิตภัณฑ์ราคาถูกสู้บุหรี่นอก

ภาณุพล รัตนกาญจนภัทร
ภาณุพล รัตนกาญจนภัทร

การยาสูบฯ พร้อมปรับราคาบุหรี่ตามภาษีใหม่ เล็งออกผลิตภัณฑ์ราคาถูกสู้บุหรี่นอก พร้อมจับมือ บริษัท ซานตาเฟ่ ฟาร์ม แอลแอลซี (สหรัฐอเมริกา) พัฒนากัญชง หนุนเพิ่มรายได้ชาวไร่

วันที่ 28 กันยายน 2564 นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่แน่ชัด แต่ยอมรับว่าหากมีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่จริง จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ยสท. อย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหลังจากมีการปรับภาษีบุหรี่ ทำให้ยอดขายเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านมวนต่อปี จากก่อนหน้านี้ที่เคยทำได้กว่า 2.8 หมื่นล้านมวนต่อปี

ดังนั้นเมื่อมีการบังคับใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ยสท. จะต้องมีการปรับราคาบุหรี่ให้สอดคล้องกับอัตราภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้นจริง โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับบอร์ด ยสท. อีกครั้ง ส่วนจะมีการออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ตัวใหม่ที่มีราคาต่ำเพื่อไปสู้ในตลาดหรือไม่นั้น ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจ แต่อาจจะเกิดขึ้นยาก เพราะอาจไม่สอดคล้องกับด้านสาธารณสุขที่ต้องการให้คนลดเลิกการสูบบุหรี่

“การออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ใหม่มาสู้กับตลาดหรือบุหรี่ต่างชาติ อาจเป็นเรื่องยาก เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากหลายฝ่าย เช่น คณะกรรมการพิจารณา ด้านสาธารณสุข รวมถึงสภาพตลาด ที่ต้องไปคุยกับผู้ค้าต่าง ๆ แต่วันนี้บุหรี่จากต่างประเทศไม่น่ากลัวเท่ากับบุหรี่เถื่อน ที่พบว่ามีการลักลอบนำเข้าสูงมาก หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากอดีต เนื่องจากมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศมาก”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจากข่าวการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการกักตุนบุหรี่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าบุหรี่ยังมีเพียงพอ และไม่ขาดตลาดอย่างแน่นอน ทั้งนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลงไปประมาณ 5-6% จากยอดขายที่ 18,000 ล้านมวนต่อปี พร้อมกันนี้ นายภาณุพล ยืนยันว่าแม้ที่ผ่านมารายได้ของ ยสท. ลดลง แต่ไม่กระทบกับความมั่นคงของ ยสท. แม้กำไรจะลดลงเหลือ 1,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2559-2560 จะมีกำไรอยู่ที่ 9,400 ล้านบาทก็ตาม

พร้อมกันนี้ ยสท. ได้ร่วมมือกับ บริษัท ซานตาเฟ่ ฟาร์ม แอลแอลซี (สหรัฐอเมริกา) ทำแผนธุรกิจในการพัฒนากัญชง เพื่อหาพืชทดแทนช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ หลังจากมีการลดโควตาการรับซื้อใบยาลง โดยมีชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบกว่า 1.8 หมื่นครัวเรือน คิดเป็น 5 แสนราย ซึ่งขั้นตอนในการร่วมมือหลังจากนี้ จะมีการศึกษาเมล็ดพันธุ์ของกัญชง และพื้นที่ในการเพาะปลูกต่าง ๆ เพื่อให้สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ เชื่อว่าหลังจากนั้นจะมีสถาบันการเงินที่เข้ามาให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่กว่า 3-4 เท่า จากเดิมปลูกใบยารายได้เฉลี่ย 2.3 หมื่นบาทต่อไร่ ซึ่งกัญชงสามารถแปลรูปได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นเสื้อผ้า แบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น เชื่อว่าจะอยู่ในความต้องการของตลาด ยืนยันว่า ยสท. จะไม่นำกัญชง กัญชา ไปใส่ในบุหรี่ในประเทศแน่นอน และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวไร่ ยสท. ก็มีแนวทางตั้งบริษัทลูก เพื่อเป็นตัวกลางในการขายกัญชงให้กับเกษตรกร

“แม้ตอนนี้ ยสท. ยังไม่ได้อำนาจในการปลูกกัญชง กัญชา แต่เราจะดำเนินการความร่วมมือไปก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับกฎหมาย ซึ่งตอนนี้กระทรวงการคลังยังไม่อนุมัติกฎหมาย เพราะต้องไปถามรายละเอียดจากสาธารณะสุขอีกครั้งก่อน แต่กฤษฎีกาก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้แล้ว โดยคาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้จะได้รับการอนุมัติ”