กองทุน SSF คืออะไร ต้องถือกีปี่ ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

กองทุน SSP คืออะไร เงื่อนไขลดหย่อนภาษี

กองทุน SSF หรือ Super Saving Funds ซื้อดีไหม มีเงื่อนไขอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง ทำความเข้าใจกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว พร้อมรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี 

กองทุน SSF หรือ Super Saving Funds เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทนกองทุน LTF หรือ Long Term Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2562 โดยกองทุน SSF มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวและพัฒนาปรับปรุงนโยบายการลงทุน

กองทุน SSF เป็นกองทุนที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ฯลฯ จึงทำให้กองทุน SSF มีความยืดหยุ่นและน่าสนใจ

เงื่อนไขลดหย่อนภาษี กองทุน SSF

1. ผู้ลงทุนในกองทุน SSF สามารถซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท

2. เมื่อนำไปนับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น ๆ เช่น กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. ผู้ที่ต้องการนำกองทุน SSF ไปลดหย่อนภาษีจะต้องถือไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันแรกที่ซื้อ

สิทธิประโยชน์

ผู้ลงทุนที่ซื้อกองทุน SSF สามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี หรือไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อนับรวมกองทุนการออมเพื่อการเกษียณประเภทอื่นๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ยกตัวอย่าง:

กรณีที่ 1.) ถ้ามีเงินที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน 1,000,000 บาท แล้วซื้อกองทุน SSF ไป 400,000 บาท จะหักได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน 200,000 บาท

กรณีที่ 2.) ถ้ามีเงินที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน 400,000 บาท และจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วปีละ 400,000 บาท แล้วซื้อกองทุน SSF ไป 200,000 บาท แม้ว่าจะซื้อกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่เนื่องจากมีการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้ว 400,000 บาท ทำให้มีสิทธิที่จะหักค่าลดหย่อนค่าซื้อกองทุน SSF ตามจริงได้อีกไม่เกิน 100,000 บาท เพราะติดเพดานลดหน่อยที่สูงสุด 500,000 บาท

กรณีที่ 3.) ถ้ามีเงินที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน 500,000 บาท และเงินที่ได้รับการยกเว้นอีก 300,000 บาท แล้วซื้อกองทุน SSF ไป 400,000 บาท จะหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามเงื่อนไขที่ว่า 30% ของเงินที่ต้องเสียภาษี 500,000 บาท เพราะกฏหมายให้ใช้เงินได้ต้องเสียภาษีเท่านั้นเป็นฐานสำหรับคำนวณสิทธิประโยชน์ ไม่สามารถนำเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีอีก 300,000 บาท มาใช้เป็นฐานคำนวณเพิ่มได้

วิธีนับระยะเวลา

การนับระยะเวลาของ SSF จะเป็นการนับระยะเวลาตามเงื่อนไขการถือครองหน่วยลงทุนที่ระบุไว้ว่าต้องถือไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยจะนับตั้งแต่วันแรกที่ซื้อหน่วยลงทุน ทั้งนี้ การนับระยะเวลา 10 ปี ของกองทุน SSF จะนับแยกเป็นกองที่ซื้อแต่ละปี

ยกตัวอย่าง: 

ถ้าคุณซื้อกองทุน SSF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยเงื่อนไขคือต้องถือไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากวันแรกที่ซื้อ นั้นหมายความว่า การจะนำหน่วยลงทุน SSF มาใช้ลดหย่อนภาษีได้จะต้องถือจนครบถึงวัน 1 ก.พ. 2575 และจะขายโดยไม่ผิดเงื่อนไข 10 ปี ได้ในวันรุ่งขึ้น คือ 2 ก.พ. 2575 (ถือครองครบ 10 ปี)

กำไรได้รับยกเว้นภาษี

กำไรจากการขายกองทุน SSF ที่ถือไว้จนครบ 10 ปีตามเงื่อนไขจะไดรับการยกเว้นทางภาษี แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนถือครบ 10 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่ซื้อหน่วยลงทุน กำไรที่ได้จากการขายกองทุน SSF จะต้องเอาไปเสียภาษีด้วยในฐานะ เงินที่ได้ประเภทที่ 4 คือเงินที่ได้พึงประเมิน ในรูปแบบของดอกเบี้ยเงินปันผล ผู้รับเงินต้องนำเงินที่ได้จากการขายกองทุน SSF ไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ถือกองทุน SSF อยู่นั้น กฏหมายเปิดช่องให้ผู้ลงทุนสามารถสลับไปถือกองทุน SSF กองอื่นแทนกองทุนที่ถืออยู่ได้ เพื่อเปลี่ยนไปถือกองทุน SSF กองที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าโดยไม่ผิดเงื่อนไขการนับระยะเวลาและไม่ถือว่าเป็นการขายก่อนเวลา

SSF ต้องซื้อขั้นต่ำเท่าไหร่

สำหรับการนำกองทุน SSF ไปใช้ในการลดหย่อนภาษี ไม่ได้มีการกำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการซื้อต่อปี และไม่บังคับให้ผู้ลงทุนจะต้องซื้อต่อเนื่องตลอดทุกปี แต่ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีตามเงื่อนไขที่กำหนด

ช่วงเวลารับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ผู้ลงทุนในกองทุน SSF สามารถรับสิทธิประโยชน์ไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้เพียง 5 ปี คือตั้งแต่ 2563 – 2567 หลังจากนั้นในปีถัดไปกระทรวงการคลังจะมีการพิจารณาอีกที

กองทุน SSF เหมาะกับใครบ้าง

1. เหมาะสมกับผู้ที่ยังมีอายุไม่มากนัก คือมีอายุต่ำกว่า 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาวที่ไม่ใช่เพื่อใช้ในยามเกษียณเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการออมเพื่อลงทุนในอนาคตด้วย

2. เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือมีฐานภาษีอยู่ในระดับปานกลาง และมีความต้องการที่จะลดหย่อนภาษีเฉพาะในปีนั้นๆ และสามารถถือออมระยะยาวนานถึง 10 ปีได้


3. เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้แต่ต้องการจ่ายภาษีในแต่ละปีน้อยลง แต่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 666,667 บาทต่อปี หรือสำหรับใครมีรายได้พิเศษเข้ามาเป็นปี ๆ ก็สามารถนำใช้ลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากกองทุน SSF ซื้อปีไหนก็ลดหย่อนได้ปีนั้น ไม่มีภาระหรือเงื่อนไขที่จะต้องลงทุนทุกปี