โรคระบาด : ความเสี่ยงใหม่ธุรกิจประกันภัยทั่วโลก เลขาฯ คปภ.ฉายภาพ

“โรคระบาด” กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ของธุรกิจประกันภัยทั่วโลก “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ คปภ.ฉายภาพในงานการประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี 2564 พร้อมวิเคราะห์โอกาส-ความท้าทายอุตสาหกรรมประกันภัยไทย

โลกยุค VUCA ดิสรัปต์ครั้งใหม่

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมกาประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) กล่าวในงาน “การประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี 2564 (Thailand Insurance Symposium 2021) ภายใต้แนวคิด “The New Era of Insurance: How to Manage Emerging Risk in the post COVID-19” ว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญอยู่ในสถานการณ์ของโลกยุค VUCA คือ V-Volatility ความผันผวน, U-Uncertainty ความไม่แน่นอน, C-Complexity ความซับซ้อน, และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายไปทั่วโลก

โดยภายใต้สภาพแวดล้อมโลกยุค VUCA ที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดคือ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด หรือ Disruptive technology หรือที่เรียกว่า Digital Disruption ที่เข้ามามีบทบาทก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในการประกอบธุรกิจและการดำรงชีวิต

และสิ่งที่เป็นดิสรัปชั่นครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลกของเราในหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสุขภาพอนามัย รวมไปถึงความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างกว้างขวาง และสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่เรียกว่า New Normal คือ เกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิด COVID-19 Disruption ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา

โดยก่อให้เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งรุนแรงที่สุด ก่อให้เกิดรักษาระยะห่างทางสังคม ข้อจำกัดในการเดินทาง และส่งผลให้ทัศนคติตลอดจนพฤติกรรมการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยข้อดีคือประชาชนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์มากขึ้น

ในแง่ของภาคธุรกิจ ลูกค้าต้องการให้มีการตอบสนองอย่างฉับไว ซึ่งจะเห็นการบริการในปัจจุบันจะมุ่งเน้นช่องทางดิจิทัล รูปแบบขั้นตอนที่ง่ายไม่ซับซ้อน ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลในแต่ละประเทศมีการปรับตัวและออกมาตรการทั้งในการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรคระบาด การจัดหาวัคซีน

รวมไปถึงการเยียวยาผลกระทบให้ประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักในทุกประเทศคือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy

โรคระบาด ความเสี่ยงใหม่ของธุรกิจประกันภัยทั่วโลก

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า วิกฤตโควิด-19 เปรียบเสมือน “เหรียญสองด้าน” ที่มีทั้งโอกาสและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย โดยโอกาสคือประชาชนให้ความสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ตระหนักถึงเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตและการประกอบธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณ์ประกันภัยเพิ่มสูงขึ้น

และเป็นตัวเร่งอย่างมากที่ทำให้ประชาชนต้องใช้และคุ้นชินกับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อจะเกิดความอยู่รอด และรักษาฐานลูกค้าของตนเองโดยการเติบโตต่อไปในระยะยาว

สำหรับความท้าทาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสภาพภูมิทัศน์ความเสี่ยงของระบบประกันภัยทั่วโลก และความเสี่ยงด้านโรคระบาดกลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย ความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ มาคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

ในขณะที่ความเสี่ยงพื้นฐาน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ความเสี่ยงหายทางทรัพย์สิน และความเสี่ยงอุบัติใหม่ ที่เรียกว่า emerging risk ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยเช่นกัน

คปภ.ในฐานะหน่วยกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัย ได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มโอกาสพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ด้วยการนำเทคโนโลยมาสร้างความเท่าเทียม และปรับปรุงกระบวนการทำงานในเชิงรุกเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยอย่างครบถ้วน

โดยได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัย ฉบับที่ 4 ใช้ระหว่างปี 2564-2568 ตลอดจนแผนของสำนักงาน คปภ.ระยะ 3 ปี ใช้ระหว่างปี 2564-2566 และแผนการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็น Smart OIC เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และการดำเนินการเชิงรุกเพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยไทย