5 เรื่องน่ารู้ SCBX หลังยานแม่ร่อนจอด ตลาดหุ้นไทย

SCBX

“SCBX” หลังยานแม่ลงจอด เปิดท้ายซื้อ-ขายหุ้นวันแรก วานนี้ (27 เม.ย. 2565) แม้ชื่อหุ้นยังใช้ตัวย่อเดิม เมื่อครั้งเป็นธนาคาร แต่ชื่อเต็มๆ ของบริษัทได้เปลี่ยนไปแล้ว และนี่คือ 5 เรื่องน่ารู้ของธุรกิจนี้

วันที่ 28 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวานนี้ (27 เม.ย. 2565) ซึ่งเป็นวันแรกที่ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก มีรายงานว่า เปิดตลาดวันแรกที่ระดับ 71 บาท ก่อนจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 121.50 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 50.5 บาท หรือบวกกว่า 71.13% เทียบจากราคาวันก่อนหน้า โดยเช้านี้ ณ เวลา 11.45 น. ราคาอยู่ที่ 112.50 บาท

จากความฮอตของยานแม่ SCBX ที่หลายคนจับตามองมาตั้งแต่ปลายปี 2564 “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปรู้ 5 เรื่องสำคัญของบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีแห่งนี้

ภาพจากเว็บไซต์ ธนาคารไทยพาณิชย์

1.ที่มาของ “ยานแม่”

หลาย ๆ ครั้ง เวลาที่เห็นข่าวเกี่ยวกับ SCB, SCBX และธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วงนี้ จะมีคำลำลองเรียกต่อท้ายเสมอว่าเป็น “ยานแม่ (New Mothership)” ที่มาของคำคำนี้มาจากการประกาศวิสัยทัศน์องค์กรเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ พูดไว้ในวันดังกล่าวว่า ที่ต้องทำยานแม่ เพราะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา SCB เน้นโปรเจ็กต์ทรานส์ฟอร์เมชั่น และอัพไซด์ดาวน์ จุดประสงค์หลักและความตั้งใจก็คือ จะทำอย่างไรให้กลุ่ม SCB ของเรา เติบโตและแข่งขันได้

แต่ใน 4-5 ปีนี้ การจัดการและดำเนินการตามโจทย์ดังกล่าว ภายใต้โครงสร้างธนาคารมีขีดจำกัด ศักยภาพที่มีอยู่เลยไม่ได้รับการปลดล็อกให้ทำได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างใหม่ที่แบ่ง Cash Cow กับ New Growth ออกจากกัน จะทำให้การมุ่งเน้นไปที่การเติบโตใหม่ทำได้ง่ายและไม่มีกรอบการดำเนินการภายใต้ธนาคารมากำกับอีกต่อไป

อาทิตย์ นันทวิทยา ภาพจากเว็บไซต์ธนาคารไทยพาณิชย์

2. SCBX ตัวย่ออะไรกันแน่ ?

หลายคนอาจสงสัยว่า ตกลง บมจ.เอสซีบี เอกซ์ บริษัทที่คุมยานแม่ใช้ตัวย่ออะไรกันแน่ ?

คำตอบมีดังนี้

  • “SCB” เป็นตัวย่อของ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ สำหรับซื้อขายในตลาดหุ้นตั้งแต่ 27 เมษายน 2565 เป็นต้นไป
  • “SCBB” เป็นตัวย่อใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ หลังจากถอยออกจากตลาดหุ้น
  • “SCBX” เป็นชื่อที่ไว้เรียก บมจ.เอสซีบี เอกซ์ โดยทั่วไปที่คุมยานแม่

3.ยานแม่ SCBX ทำอะไรบ้าง ?

อาทิตย์ นันทวิทยา เคยให้คำตอบว่า จะวางเป้าหมายในการลงทุนโดย SCBX ไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. บริษัทที่ SCBX จัดตั้งขึ้นมาเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลและสินเชื่อ โดยการจัดธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เช่น Auto X เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ และ Card X เพื่อดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
  2. บริษัทใหม่หรือธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการลงทุนของบริษัทในเครือ เช่น SCB 10X ที่จัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่สัญชาติไทย และ Token X ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร
  3. SCBX ร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ เช่น AISCB บริษัทร่วมทุนกับเอไอเอส เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล Alpha X บริษัทร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจ มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ รองรับลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยม-ลักเซอรี่ และ SCB TechX บริษัทร่วมทุนกับปับลิซีส เซเปียนท์ เพื่อให้บริการธุรกิจในรูปแบบพัฒนาระบบดิจิทัลเทคโนโลยี และธุรกิจด้านแพลตฟอร์ม เป็นต้น

โดยเป้าหมายจะโฟกัสที่เทคโนโลยีการเงิน แพลตฟอร์ม และสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นหลัก รวมถึงธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับทางการ

โครงสร้าง SCBX ภาพจาก SCB Thailand

4.บริษัทใหญ่ที่ร่วมทุนกับ SCBX

แน่นอนว่า บิ๊กดีลที่หลายคนกำลังจับตามองทุกขณะ อย่างการเข้าลงทุนใน “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด” (Bitkub Online Co., Ltd.) ด้วยการทุ่มเม็ดเงินลงไปกว่า 17,850 ล้านบาท ยังต้องลุ้นกันต่อไป เพราะการทำ Due Diligence และยื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการลงทุนใน Bitkub เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ล่วงเข้าเดือนที่ 4 แล้ว

แต่ที่ผ่านมา SCBX ก็เข้าจับมือกับพันธมิตรระดับเบิ้ม ๆ แล้ว 3 เจ้า ดังนี้

  • AISCB หรือ เอไอเอสซีบี ซึ่งเป็นร่วมทุนระหว่าง AIS กับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ต่อไป โดยมี “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” รับตำแหน่ง Chief Executive Officer
  • Alpha X หรือ บริษัท อัลฟา เอกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด หรือ MGC Group โดย Alpha X จะให้บริการเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับรถยนต์หรู รถจักรยานยนต์ หรือ Big Bike และยานพาหนะทางน้ำ เช่น Yacht และ River Boat
  • CPG-SCB Group JV ซึ่งไทยพาณิชย์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อกเชน หรือ Blockchain สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Assets เทคโนโลยีด้านการเงิน หรือ FinTech รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก

5.คู่แข่งของ SCBX ในฐานะโฮลดิ้งคอมปะนี

แม้ในการเปิดตัว SCBX เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 “อาทิตย์” จะย้ำว่า SCBX เป็นยานแม่ไม่ใช่โฮลดิ้งคอมปะนี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการทำธุรกิจที่พร้อมจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจหลากหลายนั้น เป็นสิ่งที่หลาย ๆ บริษัทในปัจจุบันเดินหน้าไปในทิศทางนี้

ดังนั้น คู่แข่งกับ SCBX จึงมีหลายแห่ง จะยกตัวอย่างในที่นี้ ประมาณ 4-5 บริษัท ซึ่งขอเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้

  • บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ลงทุนใน บมจ.วีจีไอ (VGI), บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) และ บจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เป็นต้น
  • บมจ.ปตท. (PTT) ลงทุนใน บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เป็นต้น
  • บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ลงทุนใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)
  • บมจ.ช.การช่าง (CK) ลงทุนใน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) และ บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW)

เหล่านี้คือ 5 เรื่องเกี่ยวกับยานแม่ SCBX ที่จะอยู่ในแวดวงธุรกิจการเงินเทคโนโลยีไทยไปอีกนาน