ธปท.มองค่าเงินบาทอ่อนตามภูมิภาค-กลไกตลาดยังปกติ

เงินบาท

ธปท.มองเงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ หลังนโยบายการเงินประเทศหลักเปลี่ยนแปลง-การระบาดโควิด-เศรษฐกิจจีน ระบุการเคลื่อนไหว-กลไกตลาดยังปกติตามทิศทางของค่าเงินในภูมิภาค ลั่นยังคงติดตามใกล้ชิด หากผิดปกติพร้อมดูแลและใช้เครื่องมือตามความเหมาะสม

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางเงินบาทที่อ่อนค่านั้น เป็นการอ่อนค่ามาสักกระยะหนึ่งแล้ว โดยจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นปัจจัยสำคัญในการ dominate เงินบาท รวมถึงปัจจัยการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจในประเทศจีนด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังส่งผลไปยังสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทยังคงเป็นไปตามภูมิภาค ซึ่ง ธปท.ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยังคงพบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวปกติ แต่ ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจยังคงเป็นประเด็นต่อเนื่องที่ยังคงต้องติดตาม เพราะปัจจัยภายนอกยังคงมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง

ขณะเดียวกัน หากดูค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามีผลต่อเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และเศรษฐกิจ ในขณะนี้ผลกระทบยังมีไม่มาก แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเครื่องมือที่ ธปท.ใช้ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จะมีตั้งแต่เบาและหนัก เช่น การเข้าไปซื้อขายในตลาด หรือที่เรียกว่า Intervene หรือส่วนกรณีที่เริ่มมีผลต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ จะใช้อัตราดอกเบี้ย แต่หากเริ่มมีผลกระทบรุนแรง จะใช้มาตรการ Capital Control ควบคุมเงินไหลเข้าและออก

“ปัจจุบันค่าเงินที่ลิงก์กับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจมีผลบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่แบงก์ชาติจะต้องดำเนินการอะไร และหากดูเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาจาก Supply Shock ที่มาจากราคาอาหารและน้ำมัน ไม่ได้เป็นผลมาจากค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี เราก็มีการติดตาม ทั้งปัจจัยที่มีผลต่อโฟลว์ในตลาด ติดตามกิจกรรมและธุรกรรมในตลาดต่างประเทศ รวมถึงดูกลไกตลาดเป็นปกติหรือไม่ โดยหากมีความจำเป็นและมีความผิดปกติก็ดูแลตามความเหมาะสม”