ดร.พิพัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กระเทาะปมเงินเฟ้อสูงติดลมบน

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

“ดร.พิพัฒน์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ชี้โลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงติดลมบน เปิดปมสหรัฐต้องใช้ยาแรง รับมือความเสี่ยงเงินเฟ้อค้างนาน ป่วนราคาสินทรัพย์ทั่วโลก

วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์เฟซบุ๊ก “Pipat Luengnaruemitchai” ถึงประเด็นว่า “เมื่อเงินเฟ้อติดลมบน” โดยระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศวันก่อน น่าจะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่คนติดตามมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะเดิมพันสูงมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เงินเฟ้อสหรัฐเดือนมีนาคมพุ่งขึ้นไปถึง 8.5%

ซึ่งทำให้เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ต้องยอมรับกลาย ๆ ไปแล้วว่าตัวเอง “behind the curve” จนแปลงร่างจากนกพิราบที่น่ารัก เป็นพญาเหยี่ยว

และกระทืบเบรกแรง ๆ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยทีละ 0.5% จนตลาดตกอกตกใจ ร่วงกันระนาว และเจาะฟองสบู่แตกไปหลายดอก

ตลาดคาดกันว่าเงินเฟ้อเดือนเมษายนน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และน่าจะลดลงมาได้ เฟดจะได้ผ่อนแรงบ้าง พอให้ตลาดหายใจหายคอกันหน่อย

ตัวเลขที่ออกมาคือ เงินเฟ้อลดลงจริงเหลือ 8.3% จากปีก่อน แต่ลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาด ถ้าคิดเป็นเดือนต่อเดือนเหลือ 0.3% (แปลว่าคิดเป็นทั้งปีก็ประมาณเกือบ ๆ 4% ลดมาพอควรแล้ว) ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานลดเหลือ 6.1% ก็เยอะกว่าที่ตลาดคาด

ดร.พิพัฒน์ ระบุอีกว่า ถ้าดูไส้ในพบว่ามีแรงกดดันอยู่สามกลุ่มใหญ่ ๆ

หนึ่ง คือ เงินเฟ้อที่มาจากการเปิดเมือง และ supply กลับมาได้ไม่ทัน เช่น รถเก่า (ที่ขึ้นมาที 30-40% แต่ไม่มีใครเชื่อว่าจะขึ้นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ได้) รถใหม่ โรงแรม เครื่องบิน ราคาสินค้ากลุ่มนี้น่าจะเริ่มทรงตัว และมีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อค่อยๆน้อยลง ตามฐานที่สูงและ supply ที่ค่อย ๆ ดีขึ้น

สอง คือกลุ่มราคาพลังงาน ที่เริ่มขึ้นมาเยอะๆช่วงปลายปีเป็นแรงกดดันสำคัญ แต่ถ้าน้ำมันไม่ขึ้นต่อกลุ่มนี้ก็น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น

แต่กลุ่มสุดท้าย คือ เงินเฟ้อที่มาจาก demand และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น เช่น ราคาบริการต่าง ๆ ที่สะท้อนค่าจ้างมากกว่าต้นทุน หรือค่าเช่าบ้าน พบว่าเริ่มเร่งตัวขึ้น และอยู่ในระดับ 4-6% ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่ากังวลที่สุด และถ้าเฟดคุมไม่ดี เงินเฟ้อกลุ่มนี้จะค้างสูงจนกลายเป็นปัญหาได้

ถ้าดูแบบนี้ คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่มีความเสี่ยงที่จะค้างอยู่ในระดับค่อนข้างสูงไปอีกสักพัก ปลายปีอาจจะเห็นเงินเฟ้ออยู่ประมาณ 4-5% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 2% มาก

ทำให้เฟดไม่มีทางเลือกต้องกระทบเบรกกันต่อไป

ตอนนี้ประเด็นที่สำคัญที่ยังถกเถียงกัน ไม่ใช่ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แต่ต้องขึ้นไปถึงไหน และเมื่อไร

ตัวเลขนึงที่คนอยากรู้มาก ๆ คืออัตราดอกเบี้ย “neutral rate” หรืออัตราดอกเบี้ยที่ไม่เร่งหรือเบรกเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน

โดย FOMC (คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด) ประเมินไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ 2.4% แปลว่าถ้าเศรษฐกิจยังร้อนแรง ยังไงก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปให้เกินตรงนั้น และเริ่มมีคนมองว่าอย่างน้อยควรจะขึ้นดอกเบี้ยไปให้ถึง 3.25% เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ

“แต่จะถึงจุดนั้นเมื่อไร? ตลาดคาดกันว่า อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.5% ไปสักสองสามครั้ง และลดเหลือ 0.25% ทุกครั้ง ปีนี้มีประชุมเหลืออีกห้าครั้ง ดอกเบี้ยน่าจะไปถึงจุดนั้นสักต้นปีหน้า แต่หลังตัวเลขเงินเฟ้อออกมา มีกรรมการ FOMC บางท่าน เช่น Bullard บอกว่าอยากเห็น 3.5% ปลายปีนี้เลย! แปลว่าต้องขึ้นครั้งละ 0.5% ในการประชุมทุก ๆ ครั้ง ตลาดก็ตกลงร่วงลงมาอีก เพราะที่ว่า priced in ไปหมดแล้ว อาจจะยังไม่หมดก็ได้”

ดร.พิพัฒน์ ระบุอีกว่า เท่านั้นยังยังไม่หมด โดยธนาคารกลางรอบบ้านของไทยก็ทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นกัน รวมถึง ECB (ธนาคารกลางยุโรป) ที่ใช้ดอกเบี้ยติดลบมานานหลายปี ยังบอกว่ากำลังจะขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้

จนกว่าตลาดจะมีการคาดการณ์ที่สอดคล้องกัน ทั้งเรื่องเงินเฟ้ออยู่ตรงไหน ธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงไหน และเร็วแค่ไหน เราอาจจะเห็นยังคงผันผวนรุนแรงอย่างที่เห็น

สินทรัพย์ที่มี valuation แพง มีหนี้เยอะ ๆ และเคยได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องล้น หรือหน้าตาคล้าย ๆฟองสบู่ คงจะถูกเจาะไปทีละอันอย่างที่เรากำลังเห็นกัน

“แต่หวังว่าจะไม่นำไปสู่ market event ใหญ่ ๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบนะครับ เพราะเวลาน้ำลดอย่างนี้แหละครับ ที่เราจะเห็นว่าใครว่ายน้ำโดยไม่ใส่เสื้อผ้า” ดร.พิพัฒน์ระบุ