สงคราม ‘รัสเซีย’ ฉุดเศรษฐกิจไทย สศช.หั่นจีดีพี-‘ทีทีบี’ คาดโตต่ำกว่า 3%

จีดีพีไทย

เศรษฐกิจไทยมีภาพของการฟื้นตัว โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกขยายตัวได้ที่ 2.2% ต่อปี (YOY) และขยายตัวได้ 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)

อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยลบที่เข้ามามากขึ้น น่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไป

สงครามรัสเซียฉุดเศรษฐกิจไทย

โดย “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ไตรมาสแรกจีดีพีขยายตัวได้ 2.2% เนื่องจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์โควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา โดยบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวได้ 3.9% ส่งออกขยายตัว 10.2% และมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 497,693 คน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศของหลายประเทศทั่วโลก

“เศรษฐกิจไทยแม้จะเผชิญข้อจำกัด แต่ยังขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564 แต่ยังต้องจับตาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เพราะมีผลต่อราคาพลังงาน และต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ย และข้าวสาลี ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น”

ทั้งนี้ สศช.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% ต่อปี (ค่ากลางที่ 3%) ลดลงมาจากเดิมที่เคยประเมินไว้ 3.5-4.5% (ค่ากลางที่ 4%) จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อปีนี้เงินเฟ้อที่คาดจะสูงถึง 4.2-5.2% รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

สำหรับเครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ การส่งออก คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.5% และการท่องเที่ยว ที่ประเมินว่าในปีนี้จะทำได้ 7 ล้านคน หลังจากรัฐบาลได้มีการปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ (Test & Go) โดยคาดว่าในไตรมาส 4 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น

7 ข้อเสนอแนะบริหารเศรษฐกิจ

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 “ดนุชา” ชี้ว่า ควรให้ความสำคัญใน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.รักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดยการดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน, ดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า

2.สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ, จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง, พิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจ และยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน

3.รักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต 4.ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง

5.ขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 6.ดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และ 7.ติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

ดูจังหวะใช้ “คนละครึ่ง” กระตุ้น

ส่วนจะมีมาตรการคนละครึ่งหรือไม่นั้น เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ต้องพิจารณาความจำเป็น และประเมินร่วมกับการบริโภคและกำลังการใช้จ่ายของประชาชนด้วย ซึ่ง สศช.จะหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง ซึ่งการจะทำ ก็ต้องออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“ต้องพิจารณาถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ด้วย เพราะพ.ร.ก.กู้เพิ่มเติม เหลือวงเงินที่ใช้ได้แค่ 4.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงต้องดูให้รอบคอบ”

“ทีทีบี” จ่อหั่นจีดีพีโตต่ำกว่า 3%

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า กำลังพิจารณาปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงอีก จากเดิมคาดการณ์เติบโตที่ 3% เนื่องจากผลกระทบจากรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามา เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งน่าจะกระทบกับกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งน่าจะสะท้อนออกมาในตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2

“ตอนนี้ตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจหลาย ๆ ตัวเริ่มกลับมาใกล้ช่วงก่อนโควิดแล้ว และมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเรียกว่ายังฟื้นช้าอยู่”

คาด ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย Q4

ขณะที่ “กฤติกา บุญสร้าง” ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.7% ต่อปี โดยฟื้นตัวขึ้นในเกือบทุกหมวด ส่วนการที่ สศช.ปรับลดประมาณการลง เนื่องจากผลกระทบ
จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

“ตอนนี้เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับไปที่ระดับก่อนโควิดภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยในระยะสั้นช่วงนี้เงินบาทมีโอกาสผันผวนแตะ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่ช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมาแข็งค่าขึ้น เพราะดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มชะลอ น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว”


คงต้องติดตามพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกันต่อไป และภาวนาไม่ให้มีปัจจัยลบเพิ่มเข้ามาอีก