3 เสาหลักเศรษฐกิจ ตีโจทย์ประเทศไทย ก้าวใหม่หลังวิกฤต

เสาหลักเศรษฐกิจ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ-ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ-ดนุชา พิชยนันท์

หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 นานกว่า 2 ปี ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ก็มีปัจจัยใหม่เข้ามาเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬาฯ สมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และคณะกรรมการร่วม 3 ภาคเอกชน

จัดเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” โดยให้ทุกภาคส่วนเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการรับข้อเสนอแนะเพื่อนำไปวางรากฐานประเทศ รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่ง 3 หน่วยงานเสาหลักด้านเศรษฐกิจคือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒน์ ได้สะท้อนแง่มุมในหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย”

รัฐแบกต้นทุนวิกฤตโควิด

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง กล่าวว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 ทุกประเทศต้องดำเนินนโยบายลักษณะเดียวกันหมด โดยใช้นโยบายการเงินและการคลัง ส่วนของไทยก็ประสานนโยบายกัน ด้านการเงินจะดูแลเรื่องต้นทุนเงิน การพักชำระหนี้ เติมเงินใหม่ และพักทรัพย์พักหนี้ ส่วนนโยบายการคลังก็แบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้น

               

“ช่วง 2 ปี คนตกงาน โรงงานปิด รัฐก็ต้องช่วย ถามว่าเอาเงินเยียวยามาจากไหน ก็ต้องกู้ ถือเป็นต้นทุนของรัฐบาล ไม่มีใครมาแบกรับแทน เป็นการใช้เงินล่วงหน้า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งต่างประเทศให้ทิศทางว่า นโยบายการคลังต้องมีบทบาทในช่วงโควิด และนโยบายการเงินต้องคอยดูแลภาคธุรกิจ”

ส่งสัญญาณปรับโครงสร้างภาษี

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนจากการทำมาตรการยกเว้นภาษี หรือลดหย่อนภาษีในช่วงที่ผ่านมาด้วย ดังนั้น ภาระที่เพิ่มขึ้นจึงเกินกว่าปกติ สิ่งที่ต้องดำเนินการ อันดับแรกคือ สร้างการเจริญเติบโต แม้จะมองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า หากโตช้าแต่มั่นคงก็จะเลือกแนวทางนี้ อีกส่วนก็มีการปรับโครงสร้างภาษีให้มีรายได้ทดแทนภาระที่เกิดขึ้น

“การส่งเสริมมาตรการก็มีต้นทุน ต้นทุนที่เสียไปจะได้กลับมาจากไหน วันนี้เราพูดถึงการคลังยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะเรา แต่เวทีในอาเซียน และ G20 ก็พูดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ความยั่งยืนทางการคลังไม่ใช่รัฐจ่ายอย่างเดียว แต่รัฐต้องมีรายได้กลับมา โดยการปฏิรูปจัดเก็บรายได้ ประเทศในอาเซียนและเอเชียเริ่มมีการปรับภาษีเพื่อสร้างรายได้เข้ารัฐแล้ว” รมว.คลังกล่าว

ระบบนิเวศการเงินเอื้อธุรกิจแข่งขันได้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ถือว่าหนักหน่วง ธปท.ต้องทำให้ระบบการเงินสามารถทำงานได้ปกติ จึงลดดอกเบี้ยและผ่อนคลายเกณฑ์ให้เอื้อสถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อได้ปกติ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) รวมถึงสินเชื่อฟื้นฟู รวม 2 โครงการนี้เป็นเงินกว่า 3 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ หลังพักหนี้ยืดหนี้รวมกว่า 7 ล้านล้านบาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของสินเชื่อทั้งระบบแล้ว ก็มีการปรับมาตรการให้เหมาะสมขึ้น โดยปัจจุบันเป็นการแก้หนี้แบบยั่งยืน

“ทุกประเทศที่เจอวิกฤตก็ทำนโยบายคล้ายกัน ใช้นโยบายการคลัง ขาดดุลงบประมาณ และออกมาตรการกระตุ้นพยุงเศรษฐกิจ ส่วนการเงินก็ต้องมั่นใจว่าให้ระบบการเงินทำงานเป็นปกติ หรือบางมาตรการที่เหมาะกับเรา เช่น พักทรัพย์ พักหนี้

เพราะเรามีลูกหนี้ในเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวและโรงแรมค่อนข้างเยอะ นักท่องเที่ยว 40 ล้านคนไม่มาเลยเป็นศูนย์ เราจึงต้องพักหนี้เลย เพราะเขาไม่มีกระแสเงินสด ซึ่งสามารถนำทรัพย์ไปพักไว้ได้ และให้สิทธิซื้อคืนได้ ซึ่งเหมาะกับบริบทประเทศ ล่าสุดมีคนเข้ามาตรการแล้ว 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่น้อย”

สิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญคือ การขับเคลื่อนมาตรการให้เห็นผลจริง ไม่ยึดติดกับมาตรการเดิม พร้อมปรับตามสถานการณ์ คิดว่าหนี้เสียอาจจะทยอยเพิ่มขึ้น แต่ไม่รุนแรงจนตกหน้าผา

“2 ประเด็นหลักที่อยากฝากไว้คือ 1.โจทย์สำคัญไม่ใช่ว่าใครเป็นพระเอก แต่เราต้องสร้างระบบนิเวศให้คนที่มีความสามารถเป็นพระเอกได้ ธุรกิจแข่งขันได้ และ 2.ประเทศไทยเจออะไรมาหนักแต่ก็ไม่แย่ไปหมด ยังมีกระแสดิจิทัลและไทยก็มีโครงสร้างที่ไม่ได้แย่

กระแสกรีนก็เป็นโอกาส เรื่องภูมิรัฐศาสตร์มีหลายมิติ ทั้งความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งไทยมีจุดเด่นทางด้านอาหารถือเป็นโอกาส และการปรับตัวเชื่อมโยงกับอาเซียน เพราะเราอยู่ในจุดที่ดี แต่ต้องใช้ให้ถูก”

ชูแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 พลิกเศรษฐกิจไทย

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า อดีตประเทศไทยได้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมาได้ถึงปัจจุบัน แต่ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวช้าลง และวิกฤตโควิด ทำให้เห็นชัดว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และภูมิต้านทานที่เพียงพอ ทำให้ฟื้นตัวได้ช้า

“10 กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และภาคการผลิตยังอยู่ในรูปแบบเดิม ฉะนั้นจากมิติที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เห็นได้ชัดเลยว่า ไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกครั้ง”

ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะประกาศใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) ซึ่งกำหนดให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมเข้ามา แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่

1.มิติด้านการปรับโครงสร้างเพื่อการผลิตและบริการ โดยใช้ฐานที่มีอยู่นำเอาเทคโนโลยีและการวิจัยเข้าไปช่วยศึกษา เพื่อให้มีสินค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

2.มิติด้านลดความเหลื่อมล้ำของคน และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ทั้งเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ต้องเชื่อมกับบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อให้มีรายได้และการประกอบอาชีพที่เป็นธรรม

3.มิติด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม มีการดูแลเรื่องภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำ ให้สังคมตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

และ 4.มิติด้านการปรับระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น มีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้ามาทำงานในอนาคต

“ตอนนี้โลกไม่ปกติ ประชาชนต้องปรับตัวมาก ปีนี้มีปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ระยะสั้นเราต้องมีการปรับตัวให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ เช่น ปุ๋ยเคมี ให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทน เพื่อลดต้นทุน ส่วนอาหารสัตว์ก็ต้องปรับมาใช้รำข้าวแทน” เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว

ทั้งหมดเป็นมุมคิดของ 3 เสาหลักเศรษฐกิจไทยที่ได้สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจ เพื่อนำพาประเทศให้พ้นวิกฤต ไม่ว่าจะรอบนี้หรือรอบต่อ ๆ ไป