ทุนไหลออก-เงินเฟ้อทะยาน กดดัน ‘แบงก์ชาติ’ ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะนี้แรงกดดันต่าง ๆ ถาโถมเข้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งจากการที่เงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวสูงขึ้นมาก และทำท่าว่าจะไม่จบเร็ว ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เร็วและแรงจนอาจกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์)

ล่าสุดเริ่มเห็นปรากฏการณ์เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ขณะที่เงินบาทก็อ่อนค่าด้วย เนื่องจากมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นค่อนข้างมาก

กนง. เผชิญแรงกดดันรอบด้าน

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 ส.ค.นี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแน่นอน โดยน่าจะปรับในอัตรา 0.25% เพราะจากสถิติช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีน้อยครั้งมากที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยคราวเดียว 0.50% ซึ่งการจะขึ้นทีเดียว 0.50% ต้องจับตาดูว่าเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นแรงหรือไม่ แต่หากค่อย ๆ ทยอยขึ้นก็ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยแรง

ทั้งนี้ คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยคราวละ 0.25% และมีโอกาสปรับขึ้นทุกครั้งในการประชุม 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้

“ถ้าเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นเร็วก็อาจจะต้องมีการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยเร็วกว่าวันที่ 10 ส.ค. แต่ถ้าเงินเฟ้อค่อย ๆ ไต่ก็คงไม่อยากส่งสัญญาณที่จะทำให้ตลาดตกใจ”

นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ช่วงไตรมาส 3 และ 4 เนื่องจากปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกมาจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐต่างกันมากขึ้น กดดันการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงทั้งค่าเงินบาทที่อยู่ในฝั่งอ่อนค่า และลดแรงกดดันจากเงินทุนไหลออก ส่วนปัจจัยในประเทศเงินเฟ้อไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จับตาอาจต้องขึ้น ดบ.เร็ว

ขณะที่ ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธปท.จะมีการประชุมนัดพิเศษของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จากเดิมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. แต่ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะเรียกประชุมภายในเดือน มิ.ย.นี้ เนื่องจากการประชุมรอบปกติในวันที่ 10 ส.ค.ค่อนข้างไกล

ดร.ทิม SCBT

“ประเมินว่า กนง.จะมีการประชุมนัดพิเศษและขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือน ก.ค. 0.25% และขึ้นในรอบประชุมปกติในเดือน ส.ค.อีก 0.25% และรอบการประชุมเดือน ก.ย.อีก 0.25% รวมขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง 0.75% ต่อเนื่องในไตรมาส 3 จะทำให้ปลายไตรมาส 3 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.25% และการประชุมในเดือน พ.ย.จะพักไว้ก่อนจนถึงต้นปี 2566”

คลังรับทุนเริ่มไหลออก

ด้าน “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลกระทบจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย จากการประเมินเบื้องต้น ไม่มีผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ส่วนประเด็นกระแสเงินทุนทยอยไหลออกนั้น ยอมรับว่า เป็นผลมาจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าระยะต่อไปจะเข้าสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกันกับในอดีตที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ดี ทาง ธปท. มีการติดตามเรื่องการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอยู่แล้ว

KKP หวั่นซ้ำรอยสหรัฐงัดยาแรง

ขณะที่ “KKP Research” โดยเกียรตินาคินภัทรคาดการณ์ว่า เงินเฟ้ออาจไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นยาวนานกว่าที่คาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไทยกำลังเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น คาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 6.6% ในปี 2565 และ 3.1% ในปี 2566 สิ่งที่ต้องจับตามองคือ แนวโน้มเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาค่าครองชีพ ต้นทุน และส่งผลต่อเนื่องกับภาระการชำระหนี้ของครัวเรือนที่จะปรับตัวสูงขึ้น สร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยซึมยาว

อย่างไรก็ดี KKP ชี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ยังแสดงความกังวลกับตัวเลขเงินเฟ้อน้อยมาก เมื่อย้อนดูเหตุการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐ ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปก่อนไทย ทำให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับในสหรัฐที่คาดการณ์เงินเฟ้อผิดพลาด โดยการคาดการณ์เงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงที่จะต่ำเกินไป จากทั้งผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันต่อราคาสินค้าอื่น ๆ ที่ยังมีต่อเนื่อง

มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ลดลง และค่าเงินบาทที่เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงจะส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้า KKP Research ได้ปรับการคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเป็น 6.6% ในปี 2565 และ 3.1% ในปี 2566 และคาดการณ์ว่าแรงกดดันในปัจจุบันจะทำให้ ธปท.ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้ง ในปี 2565 และขึ้นอีก 4 ครั้ง ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน จะทำให้การควบคุมเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้น และ ธปท.อาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อโลกที่เปลี่ยนไปในระยะยาว และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลให้ภาระหนี้ของครัวเรือนไทยปรับตัวสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงกับเศรษฐกิจในประเทศได้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะมีความเปราะบางต่อการปรับดอกเบี้ยขึ้นมากด้วย

ธปท.ยันขึ้นดอกเบี้ยไม่อิงเฟด

ด้าน “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยควรจะเป็นบริบทของไทย ไม่เกี่ยวกับเฟด ซึ่งการปรับควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเทียบกับสหรัฐที่เงินเฟ้อมาจากอุปสงค์ แต่ของไทยมาจากอุปทาน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ช้ากว่า ซึ่งคนกังวลกันว่าจะกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) แต่ดูตอนนี้ไทยไม่มีปัญหา

ถามว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ขึ้นตอนไหน และขึ้นอย่างไร ก็ต้องตอบว่า “ช้าเกินไปไม่ดี” ซึ่งที่ผ่านมา นโยบายการเงินของไทยถือว่าผ่อนปรนมากและเป็นเวลานาน โดยดอกเบี้ยต่ำที่สุดในภูมิภาค เงินเฟ้อติดอันดับท็อปในภูมิภาค เป็นผลมาจากไทยเจอปัญหาโควิด-19 หนักกว่าคนอื่น

“ดังนั้นมองไปข้างหน้า ‘ไทยไม่ได้เหยียบเบรก แต่ต้องถอนคันเร่ง’ เพราะถ้าคอยนานเกินไป เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด หรือหากขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป โอกาสจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในตอนหลัง ซึ่ง ธปท.ไม่อยากให้ออกมาในแนวทางนั้น ส่วนจะขึ้นกี่ครั้ง และต้องขึ้นแค่ไหน ไม่ได้มีเป้าในใจ” ดร.เศรษฐพุฒิระบุ


ทั้งหมดนี้ต้องวัดใจ ธปท.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าการดำเนินนโยบายการเงินช่วงนี้เป็นเรื่องยากลำบากแน่นอน