ผลกระทบของ Stagflation…ยิ่งจนยิ่งเจ็บ

คนรายได้น้อย
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Bnomics : ธนาคารกรุงเทพ

 

จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก ที่ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2022 ลงมาเหลือ 2.9% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีว่าจะอยู่ที่ 4.1% และคาดว่าการเติบโตจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกเกือบ 2 ปีนับจากนี้

เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในยูเครน, ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน, ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค, เงินเฟ้อสูง และปัจจัยทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่น่ากังวลคือการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูง ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก ทำให้เราหวนนึกถึง “stagflation” ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970

ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐ หรือสหราชอาณาจักร ในตอนนี้ ต่างก็กังวลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ถึงแม้สถานการณ์ในประเทศเหล่านี้ดูน่ากังวล แต่ก็อาจเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ประเทศรายได้ต่ำจะต้องเผชิญต่อจากนี้

เพราะแม้ทั้งโลกจะต้องเผชิญกับ stagflation เหมือนกัน แต่ก็อาจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน และก็คงเป็นอีกครั้งที่ประเทศยากจนกว่ามักจะกระทบหนักกว่าเสมอ

ยิ่งจนยิ่งเจ็บ…

stagflation เป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่รายได้ต่ำ เพราะส่วนใหญ่แล้วเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศที่ร่ำรวย ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย ประเทศเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

และยิ่งในตอนนี้เราจะพบว่ามีอีกปัญหาที่ซ้อนทับเข้าไปอีกคือเรื่องของ “ราคาสินค้า” ประเภทอาหาร และสินค้าเกษตรกรรมที่พุ่งสูงขึ้น ไหนจะปัญหาเชื้อเพลิง และราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ที่คนนับล้านทั่วโลกต้องเผชิญ นั่นคือการขาดแคลนอาหารจนอาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และความยากจนขั้นสุด

ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล ก็คือเป็น “ครัวเรือนคนจนเมือง” ในประเทศรายได้ต่ำอีกเช่นเคยเนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ต้องจ่ายค่าอาหารคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับรายได้

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมุติว่าคนรายได้น้อย มีรายได้ 300 บาทต่อวัน กินข้าวราดแกงจานละ 60 บาท คิดเป็น 20% ของรายได้ ในขณะที่คนรวยมีรายได้วันละ 3,000 บาท ต่อให้กินบุฟเฟต์ 300 บาท ก็ยังคิดเป็นเพียง 10% ของรายได้เท่านั้น

ในประเด็นของราคาอาหารที่แพงขึ้นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะเมื่อราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลอาจจำเป็นต้องช่วยอุดหนุนราคาโดยนำงบประมาณมาใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะสามารถนำเงินก้อนนั้นไปใช้ในการลงทุนพัฒนาด้านอื่นที่เกิประโยชน์ในระยะยาวได้

นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดสารอาหาร (malnutrition) เนื่องจากคนรายได้น้อยบางคนอาจเลือกที่จะอดมื้อกินมื้อ หรือเลือกกินอาหารที่ให้พลังงานสูงในราคาถูก ที่อาจไม่มีสารอาหารมากพอ ก่อให้เกิดปัญหาด้านทุนมนุษย์ และผลเสียต่อเศรษฐกิจได้ไปอีกเป็นสิบ ๆ ปี

สถานการณ์ในไทย…เมื่อเงินเฟ้อทำร้ายเราไม่เท่ากัน

ทีนี้เมื่อเรามาลองพิจารณาของประเทศไทยดูบ้าง จากรายงานของสถาบันป๋วย ได้คำนวณสัดส่วนประเภทของรายจ่ายครัวเรือนในปี 2019 พบว่ากลุ่มคนที่ยากจนที่สุด 20% สุดท้าย ใช้เงินไปกับค่าอาหารคิดเป็น 51% ของรายได้ ในขณะที่กลุ่มคนรวยที่สุด 20% แรกใช้เงินไปกับค่าอาหารคิดเป็นเพียง 29% ของรายได้เท่านั้น

จากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมของไทยที่ออกมาสูงถึง 7.1% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะสูงและเราไม่ได้เห็นกันมานานแล้ว

โดยปกติ อัตราเงินเฟ้อหมายถึงว่าราคาสินค้าเปลี่ยนไปมากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขนี้จึงหมายถึงว่า หากปีก่อนเราใช้เงิน 100 เพื่อซื้อของทั้งหมดในตะกร้าตะกร้าหนึ่ง แต่ในปีนี้เราต้องใช้เงิน 107.1 บาท เพื่อซื้อของในตะกร้าเดิม

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ เมื่อเรามองลึกลงไป จะพบว่าเงินเฟ้อที่สูงนั้นเป็นผลจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ราคากลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นถึง 10.45% ไข่ และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น 9.39% เครื่องประกอบอาหารเพิ่มขึ้น 10.41%

พอเราเอาข้อมูลทั้งสองชิ้นประกอบเข้าด้วยกัน ก็จะยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นว่าสถานการณ์เงินเฟ้อที่รุนแรงนั้นกำลังกระทบกับการดำรงชีวิตของคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูงอย่างเห็นได้ชัด นั่นจึงทำให้เห็นว่าประโยค “ยิ่งจนยิ่งเจ็บ” สามารถใช้อธิบายผลกระทบของ stagflation ได้ทั้งในภาพรวมทั้งโลกและในระดับประเทศ

นับต่อจากนี้จึงเป็นความท้าทายในระดับนานาชาติ และสำหรับผู้ออกนโยบายในระดับประเทศเป็นอย่างมากว่าจะรับมือกับปัญหาราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงอย่างไร โดยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการอุปทานในระดับประเทศ ภายใต้ปัจจัยท้าทายอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูง การเติบโตที่ต่ำ นโยบายการเงินแบบเข้มงวด และขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังที่มีอยู่อย่างจำกัด

รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องคิดให้ดีว่าจะจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหานี้อย่างไรเพื่อช่วยให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเจ็บน้อยที่สุด