ธปท.อุ้มลูกหนี้เปราะบาง ขยายเวลาจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% ถึงสิ้นปี’66

บัตรเครดิต

ธปท. หวั่นกลุ่มเปราะบางหนี้ทะลัก เพิ่มมาตรการประคองลูกหนี้รายย่อย ทั้งขยายเวลาชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำเหลือ 5% ไปอีก 1 ปี-ต่อมาตรการยืดชำระหนี้พีโลนดิจิทัลอีก 1 ปี พร้อมคงมาตรการอื่น ๆเพื่อประคองลูกหนี้ต่อทั้งปรับโครงสร้างหนี้เดิม-แก้หนี้ระยะยาว-เติมเงินภาคธุรกิจ-พักทรัพย์พักหนี้-สินเชื่อฟื้นฟู

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน ธปท.มีความเป็นห่วงกลุ่มที่มีความเปราะบาง กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักกัน ธปท.จึงได้มีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อบุคคลดิจิทัลพีโลน

ประกอบด้วย 1.การขยายเวลาลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำอยู่ที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และเพิ่มเป็น 8% ในปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และขยายเวลาอีก 1 ปี สำหรับมาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 1 ปี จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน จนถึงสิ้นปี 2566 ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง

นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะทำการเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น และเตรียมการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้

“ลูกค้ากลุ่มเปราะบางจะเห็นว่ากลุ่มที่ไม่มีหลักประกันจะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มที่มีหลักประกัน รวมถึงกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้ารายย่อยทั้งหมด ซึ่งเราได้มีการพูดคุยกับแบงก์ และเรารู้ว่ากลุ่มไหนเปราะบาง ส่งผลให้เอ็นพีแอลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นการช่วยเหลือต่อ เราจึงมีมาตรการมาช่วยปิดจุดอ่อนกลุ่มนี้ และหากดูลูกหนี้รายย่อยมากกว่า 60% จะไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะเป็นอัตราคงที่ (Fixed Rate) และจากมาตรการนี้ เราจึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดหน้าผาเอ็นพีแอล (NPL Cliff) เพราะเรามีมาตรการแก้หนี้ก่อนและหลังเป็นเอ็นพีแอล”

และนอกจากมาตรการเสริมในกลุ่มเปราะบางที่จะทำแล้ว ธปท.ยังคงผลักดันผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เดิม การเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ทั้งมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566

รวมถึงโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนทรัพย์มาชำระหนี้ได้ โดยให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 และ การเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566