ธปท.ยันไม่ปรับกรอบเงินเฟ้อ 1-3% พร้อมถอนคันเร่งดูแลเศรษฐกิจไม่สะดุด

ธปท.

ธปท.ย้ำถอนคันเร่งนโยบายการเงิน รับการเปลี่ยนผ่านของ “เศรษฐกิจ-โครงสร้างพลังงาน” ยันไทยไม่จำเป็นต้องปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจาก 1-3% มองเหมาะสมกับเศรษฐกิจ ชี้แม้เงินเฟ้อระยะสั้นจะหลุดกรอบ ย้ำ ดอกเบี้ยไม่ใช่พระเอก แค่ช่วยดูแลวัฎจักรเศรษฐกิจไม่ซ้ำเติมเงินเฟ้อ ด้านค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 5% สอดคล้องตามภูมิภาค พร้อมดูแลใกล้ชิดหากผันผวนผิดปกติ

ยันไม่ปรับกรอบเงินเฟ้อ 1-3% มองเหมาะสม

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในที่ประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2565 ว่า ภาพรวมรวมเศรษฐกิจโลกและไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 2 เรื่อง คือ 1.การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ (New Normal) และ 2.ภูมิทัศน์ด้านพลังงานเปลี่ยนแปลงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นโดยที่ทั่วโลกไม่คาดคิด จึงนำไปสู่ 3.นโยบายการเงินหลายประเทศจำเป็นต้องปรับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่การปรับจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

ดร.ปิติ ดิษยทัต
ดร.ปิติ ดิษยทัต

โดยในส่วนของไทย จะเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่อื่น ส่วนหนึ่งมาจากพึ่งพาการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง แต่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาในไตรมาสที่ 3-4 โดยปีนี้จะอยู่ที่ 6 ล้านคน ปรับจาก 5.6 ล้านคน และปี 66 อยู่ที่ 19 ล้านคน อย่างไรก็ดี โจทย์เศรษฐกิจไทย คือ พยายาม Take off แบบราบรื่น โดยการถอนคันเร่งที่พอเหมาะ เพื่อให้ฟันเฟืองเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ไม่กระทบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและเป็นทางที่แคบ

อย่างไรก็ดี กนง.ไม่มีความจำเป็นต้องปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากระดับ 1-3% ซึ่งเป็นกรอบเงินเฟ้อระยะปานกลาง แม้ว่าในช่วงระยะสั้นจะผันผวนและออกนอกกรอบได้จากราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยเหนือการควบคุม แต่มองว่ากรอบ 1-3% เหมาะสมสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย ส่วนต่างประเทศแม้จะมีการพูดคุยถึงเรื่องการปรับกรอบเป้าหมายไปก่อนหน้า เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบันพบว่าไม่มีการพูดคุยประเด็นดังกล่าวแล้ว

“ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) น้อยลง แต่ทิศทางที่ ธปท.สื่อสารออกไปเป็นการถอนคันเร่ง แต่ความเร็วและขนาด จะพิจารณาตามข้อมูลที่เข้ามา และมีความยืดหยุ่นตาม data dependent และถ้าเทียบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ไม่ได้เกิดจากตลาดกดดัน แต่เป็นข้อมูลเงินเฟ้อคาดการณ์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้เฟดปรับนโยบายค่อนข้างแรง ซึ่ง กนง.ดูข้อมูลเศรษฐกิจว่าจะปรับมากน้อยแค่ไหน เราไม่มีเซอร์ไพร์สตลาด แต่เราเห็นข้อมูล และตลาดคาดแล้วว่าเราจะทำนโยบายถอนคันเร่ง”

ดอกเบี้ยไม่ใช่พระเอก แค่ดูเศรษฐกิจไม่ให้ซ้ำเติมเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ชั่งน้ำหนักทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง ในแง่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และภาระหนี้สินครัวเรือนจากดอกเบี้ย ซึ่งจากการพิจารณา พบว่าความเสี่ยงอันดับต้น หากปล่อยเงินเฟ้อฝังในระบบเศรษฐกิจจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการฝังในระบบที่ไม่ได้มาจากปัจจัยอุปทานจากราคาน้ำมันที่สูงและจะคลี่คลายภายใน 1-1 ปีครึ่ง แต่มาจากเศรษฐกิจร้อนแรง มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ส่งต่อไปยังการปรับสินค้า ทำให้มีการคาดการณ์เงินเฟ้อหลุดกรอบยึดเหนี่ยวได้

ดังนั้น เงินเฟ้อฝังในระบบเศรษฐกิจ เป็นความเสี่ยงอันดับแรกที่คณะกรรมการฯดูแล โดยการถอนคันเร่ง สะท้อนไปยังการปรับนโยบายการเงิน ทำให้ในช่วงแรกของการถอนคันเร่งไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจสะดุด และหากดูภาระหนี้ที่เกิดจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ย พบว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มตั้งแต่ต้นปี กับหากดอกเบี้ยขึ้น 1% ครัวเรือนจะมีภาระจากเงินเฟ้อสูงถึง 7-8 เท่า ทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยต่อเงินเฟ้อนั้น ธปท.ไม่อยากมองว่า “ดอกเบี้ยเป็นพระเอกให้เงินเฟ้อลดลง” เพราะในระยะสั้นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยเหนือการควบคุม ซึ่งมีผลต่อรายได้ลดลงและเป็นภาระของผู้บริโภค ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อก็จะปรับลดลงด้วยในระยะปานกลาง ซึ่งนโยบายการเงินไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง แต่นโยบายการเงินพยายามดูวัฎจักรเศรษฐกิจไม่ให้ซ้ำเติมเงินเฟ้อ

“ภาพใหญ่ที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อยังมาจากสตอรี่เดิม ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงยังมีนัยสำคัญ โดยมาจากซัพพลายช็อกที่เป็นเหตุผลหลักให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น และอยู่เหนือการควบคุมที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งในกรอบประมาณการรอบนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน และปีหน้าอยู่ที่กว่า 4% ซึ่งเกินศักยภาพ และหากมองไประยะข้างหน้า ความเสี่ยงโอกาสที่แรงกดดันด้านอุปสงค์จะเสริมแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น หากนโยบายไม่ปรับตามเศรษฐกิจ ทำให้คณะกรรมการฯ พยายามไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป แนวนโยบายถอนคันเร่ง ซึ่งมีการพูดคุยกันภายในมาก่อน และถึงเวลาที่ต้องสื่อสารให้มีความชัดเจนขึ้น”

ยันไม่มีประชุมนัดพิเศษ

สำหรับแนวทางการประชุมพิเศษนั้น ดร.ปิติ กล่าวว่า จะเห็นว่า ธปท.ได้มีการปรับปรุงการประชุมให้เหลือจำนวน 6 ครั้ง จากเดิม 8 ครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลที่เข้ามาต่อเนื่อง และเป็นข้อมูลที่เป็นเนื้อเป็นหนัง ซึ่งมีผลต่อนโยบายการเงิน และเหลือการประชุมอีก 3 ครั้ง ถือเป็นจำนวนที่พอเหมาะ เพราะหลายประเทศ เช่น สวีเดน ไต้หวันประชุมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น หรือสิงคโปร์ที่ประชุมเพียง 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี หากมีความจำเป็น และเกิดสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นก็สามารถประชุมนอกรอบได้ แต่ปัจจุบันการประชุมนัดพิเศษยังไม่มีในช่วงนี้

จับตาเงินบาทใกล้ชิด

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทที่นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่าไปแล้วกว่า 5% แต่เป็นการอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยอ่อนค่าต่ำกว่าประเทศอินโดนีเซีย หรือสูงกว่ามาเลเซีย แต่โดยรวมในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เป็นการอ่อนค่า ซึ่งมาจากนโยบายการเงินของเฟดที่เร็วกว่าคาด และความกังวลที่เศรษฐกิจชะลอตัวกว่าคาดการณ์ ทำให้ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าคาดการณ์ โดย ธปท.ยังคงติดตามใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีความผันผวนผิดปกติ และการถอนคันเร่งนโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อ และเพื่อช่วยไม่ให้เงินบาทผันผวน

ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐ ยอมรับว่ามีผลกับค่าเงินแน่นอน แต่ก็มีปัจจัยอย่างอื่นที่เข้ามากระทบด้วย เช่น การลงทุนทั้งระยะสั้นและยาว เงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) และปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

“เงินบาทอ่อนค่า ยอมรับว่าส่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ หรือสินค้าต่าง ๆ ต้นทุนพลังงาน ซึ่งเป็นภาระทางการคลังสูงขึ้น รวมถึงเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ โดยประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ กนง.ยังจับตาใกล้ชิด แต่จากการพิจารณาในปีนี้เงินบาทที่อ่อนค่ายังสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค และเงินเฟ้อที่จะพีกในไตรมาสที่ 3 หากมองทะลุผ่านปีนี้ไปโอกาสที่บาทจะกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปลายปี”

ดอกเบี้ยแบงก์เริ่มขยับ เล็งช่วยกลุ่มเปราะบาง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังตลาดนั้น ปัจจุบันจะพบว่าดอกเบี้ยพันธบัตรได้ปรับตัวขึ้นไปบ้างแล้ว ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มขยับบ้าง แต่ไม่ได้ขยับมากนัก

เพราะภาพรวมเศรษฐกิจแม้ว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่เป็นการพื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้มาตรการภาพใหญ่อาจจำเป็นต้องลดลง แต่ต้นทุนในกลุ่มเปราะบางรายได้น้อย หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ขยับเพิ่มขึ้น ดังนั้นมาตรการจำเป็นต้องมาดูแลเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งในระยะข้างหน้า ธปท.จะมีการสื่อสารออกมา แต่มาตรการไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ทำเพิ่มเติมหรือนำไปปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น

ท่องเที่ยวฟื้น-ตลาดแรงงานดีขึ้น

นายสักกะภพ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเห็นว่ามีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดย ธปท.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เป็น 3.3% จาก 3.2% และปี 66 ปรับลดลงจาก 4.4% เหลือ 4.2% อย่างไรก็ดี ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเห็นทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการผ่อนคลายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

ทั้งนี้ หากดูในไตรมาส 2/65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 2 หมื่นคนต่อวัน และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นไปที่ราว 3 หมื่นคนต่อวัน ธปท.จึงมีการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทั้งปีเพิ่มเป็น 6 ล้านคน จากดิมที่ 5.6 ล้านคน ส่วนปี 66 อยู่ที่ 19 ล้านคน แม้ว่าจะยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่การฟื้นตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานเริ่มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา โดยจำนวนผู้ว่างงาน และเสมือนว่างงาน หรือทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งมองไปข้างหน้า รายได้ในกลุ่มรายได้น้อย ปานกลาง และสูงจะเติบโตเพิ่มขึ้น และคาดว่าในปี 66 ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวดีขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 65 ขึ้นมาอยู่ที่ 6.2% จากเดิมอยู่ที่ 4.9% เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดการส่งผ่านไปยังต้นทุนสินค้าต่าง ๆ และการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ซึ่ง กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นไปสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และค่อยทยอยลดลงในช่วงไตรมาส 4/65 และไตรมาส 1/66 ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กรอบเป้าหมายระยะปานกลางที่ 1-3% ได้ในช่วงกลางปี 66 โดยเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 2.2% และปี 66 ปรับจาก 1.7% เป็น 2%

“เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่เงินเฟ้อก็สูงขึ้นชัดเจน โดยเงินเฟ้อพื้นฐานหากมีแรงกดดัน จะทำให้เงินเฟ้ออยู่สูงและค้างอยู่นานกว่าคาดได้ และผลกระทบจากราคาน้ำมันทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจาก 6 พันล้านดอลลาร์ เป็น 8 พันล้านดอลลาร์ โดยการเติบโตปีนี้มาจากการบริโภคเอกชน แต่กลุ่มรายได้ต่ำและปานกลางมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ยังติดตาม”

นโยบายการเงินปรับให้ทันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายการเงินจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างทันการณ์ และให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป โดยไม่ให้สาธารณชนคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน  จะทำให้สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง จะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1-3% แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง

สุรัช แทนบุญ
สุรัช แทนบุญ

ขณะที่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่กระจายไปในหลายหมวดสินค้ามากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อหลายตัวมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น และยังมีความเสี่ยงขาสูง หากเศรษฐกิจฟื้นตัวจนเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์

“แนวโน้มเงินเฟ้อแม้ระยะยสั้นใน 1 ปีข้างหน้าจากการสำรวจจะปรับสูงขึ้น แต่สิ่งที่มีผลนัยต่อนโยบายการเงินในระยะ 5 ปีข้างหน้ายังอยู่ที่ 1-3% และยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเฉลี่ย 2.1-2.3% ไม่ได้เป็นสัญญาณที่น่าตกใจ ซึ่งเราทำนโยบายการเงินโดยใช้กลไกและสร้างความมั่นใจว่าคอมมิดให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบระยะยาว”