ดร.นิเวศน์ : วิกฤตตลาดหุ้นเวียดนาม ภัยคุกคามหรือโอกาส?

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
บทความโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 
นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)

วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีรูปแบบคล้ายคลึงกับดัชนีตลาดหุ้นของอเมริกาโดยเฉพาะดัชนี S&P500 มาก

เหตุผลส่วนหนึ่งนั้นน่าจะมาจากการที่เศรษฐกิจเวียดนามมีความสัมพันธ์กับอเมริกามากขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เวียดนามส่งสินค้าไปอเมริกามากที่สุดคิดเป็นกว่า 25% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด และก็ยังได้เปรียบดุลการค้ามหาศาล ค่าเงินดองในระยะหลายปีที่ผ่านมาก็มีเสถียรภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

มองย้อนหลังไปประมาณ 5 ปี ดัชนี S&P ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาประมาณ 58% เป็น 3,899 จุด ในขณะที่ดัชนีเวียดนามปรับขึ้นประมาณ 53% เป็น 1,171 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกันมาก

และที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดัชนีทั้งสองแห่งทำ All Time High คือขึ้นสู่จุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ในช่วงประมาณสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา โดยที่ดัชนีหุ้น S&P ขึ้นมาที่ประมาณ 4,800 จุดและดัชนีเวียดนามขึ้นมาที่ 1,500 จุด

ความคล้ายกันยังดำเนินต่อไปอีกเมื่อตลาดหุ้นอเมริกาเริ่มตกต่ำลงอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจเริ่มมีปัญหาอานิสงส์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรงอย่างที่ไม่เคยประสบในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สหรัฐต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังตามมา ผลก็คือดัชนี S&P ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดต่ำสุด ติดลบไปประมาณ 23% กลายเป็นวิกฤตตลาดหุ้น และก็เช่นเดียวกัน ดัชนีหุ้นเวียดนามก็ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วและในช่วงหนึ่งติดลบไปถึง 24%

ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าปัญหาที่ก่อให้เกิดวิกฤตของตลาดหุ้นอเมริกายังไม่ได้สิ้นสุดลง มันอาจจะเพิ่งเริ่มต้น เซียนนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจต่างก็เตือนให้ทุกคนระวังว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอเมริกาอาจจะถดถอยลงต่อไปอีก ทำนองว่า 6 เดือนที่ผ่านมา “เผาหลอก” 6 เดือนข้างหน้าจะ “เผาจริง” บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งรวมถึงเทสล่าของอีลอนมัสก์และเฟซบุ๊กหรือเมตาของมาร์กซักเกอร์เบิร์ก ประกาศลดคนงาน การคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่างก็ถูกปรับลดลง การลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีความเสี่ยงสูง

คำถามสำคัญก็คือ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามจะเหมือนกับของสหรัฐไหม? เราควรจะทำอย่างไร? นี่คือช่วงเวลาของ “ภัยคุกคาม” หรือ “โอกาส” ในการลงทุน?

ประเด็นสำคัญก็คือ ความเหมือนกันระหว่างอเมริกากับเวียดนามนั้น ดูเหมือนจะจบหรือสิ้นสุด ณ จุดนี้ ต่อจากนี้คือความแตกต่างที่จะเกิดขึ้นแม้ว่าเศรษฐกิจของเวียดนามก็ยังคงสัมพันธ์หรืออิงกับอเมริกาต่อไป และนับวันจะมากขึ้นไปอีก ความแตกต่างที่สำคัญก็คือเศรษฐกิจของเวียดนามไม่ได้ถดถอยลง ตัวเลขการเติบโตของ GDP ไตรมาสล่าสุดของเวียดนามคือประมาณ 7.7% เทียบกับปีที่แล้ว และได้รับการคาดหมายว่าทั้งปี 2022 ก็จะโตขึ้นประมาณ 7%

ที่อาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ ตัวเลขการจ้างงานในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านตำแหน่ง และตัวเลขการจ้างงานรวมนั้นมากกว่าจำนวนก่อนโควิด-19 ไปแล้วที่ประมาณ 50.5 ล้านคนเทียบกับ 50.3 ล้านคนในปี 2019 เพราะนี่จะเป็นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีต่อ ๆ ไปที่ถูกคาดการณ์ว่าจะโตอย่างรวดเร็วในระดับ 6-7% ต่อปี โดยหน่วยงานทางเศรษฐกิจระดับโลก

ในด้านของบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็น “พื้นฐานที่แท้จริง” ของหุ้นเวียดนามนั้น มีการคาดกันว่า กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในปี 2022 จะโตถึง 29% หลังจากที่เห็นผลประกอบการในไตรมาศ 1 ไปแล้ว ส่วนปี 2023 และ 2024 คาดหมายว่าจะโต 16% ต่อปีไปอีก 2 ปี อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ในตลาดหุ้นที่อาจจะมองโลกในแง่ดีกว่าปกติได้

สุดท้ายในเรื่องของความถูกความแพงของหุ้นในตลาดก็คือ ค่า PE ปัจจุบันของหุ้นเวียดนามนั้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 14 เท่าเทียบกับ 16-17 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ PE ในปี 2022 และ 2023 อยู่ที่ประมาณ 10.7 และ 9.3 เท่าตามการคาดการณ์ของโบรกเกอร์ชั้นนำของเวียดนาม และก็เช่นกันว่าอาจจะมีความลำเอียงในด้านบวกบ้าง แต่นี่ก็เป็นการแสดงถึงความมั่นใจของนักวิเคราะห์ชั้นนำของเวียดนามที่มองว่า บริษัทจดทะเบียนของเวียดนามนั้นยังคงเติบโตได้อย่างรวดเร็วและหุ้นมีราคา “ถูกมาก” และสำหรับผมแล้วมันเป็นสัญญาณว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของเวียดนามที่ดำเนินมาไม่น้อยกว่า 22 ปีแล้วนั้น ยังจะโตต่อไปและแทบจะไม่สะดุดแม้ว่าโลกจะประสบกับภาวะวิกฤต

การตกลงมาของตลาดหุ้นเวียดนามที่ทำให้ดัชนีลดลงประมาณ 22% จากต้นปีโดยที่เศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้มีปัญหาและทำให้ราคาหุ้นค่อนข้างถูกมากเมื่อเทียบกับการเติบโตต่อไปในอนาคตนั้น สำหรับผมแล้วต้องถือว่าเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาวโดยเฉพาะในหุ้นที่ดีระดับซุปเปอร์สต็อกโดยเฉพาะถ้าหุ้นนั้นมีราคาที่ไม่แพง มีค่า PE ในระดับไม่เกินซัก 20-30 เท่าจาก “กำไรปกติ” เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ

ในยามนี้ที่คนต่างก็ต้องการขายหุ้น “หนีตาย” บางคนถูก Forced Sale หรือบังคับขายหุ้นที่ซื้อด้วยมาร์จิ้น ทำให้หุ้นตกลงมาแรงและมีแรงขายมากมายในหุ้นทุกตัว โดยเฉพาะหุ้นที่มีศักยภาพเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อก ทำให้เราที่เป็นชาวต่างชาติสามารถซื้อหุ้นเหล่านั้นได้ด้วยราคา Premium ที่ต่ำลง หุ้นบางตัวสามารถซื้อได้ในราคาตลาดด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าการลงทุนซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่คนกำลัง Panic หรือตระหนกตกใจว่าหุ้นทั่วโลกกำลังล่มสลายย่อมมีความเสี่ยงว่าหุ้นจะตกลงไปอีก แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถรู้ได้แน่นอนว่าเมื่อไรหุ้นจะตกถึงพื้นและเป็น “ขาขึ้น” แล้ว นักวิเคราะห์หลายคนมักจะแนะนำว่ารอให้หุ้นนิ่งหรือปรับตัวขึ้นไประยะหนึ่งก่อนค่อยซื้อก็ไม่สาย ประเภทยอม “ขาดทุนกำไร” ไปบ้างดีกว่าที่จะเสี่ยงเข้าไปซื้อในยามที่หุ้นอาจจะตกหนักลงไปอีก ประเด็นเหล่านี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน


จิตวิทยาของผมเองก็คือ ผมกลัวว่าเวลาหุ้นปรับขึ้นไปเร็วมาก ผมมักจะไม่ค่อยอยากซื้อ และถ้ามันขึ้นไปอีกและไม่ลงมาอีกเลยผมก็อาจจะพลาดหุ้นตัวนั้นไปเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกเจ็บปวดมาก ดังนั้น ถ้าหุ้นที่เราคิดว่าจะเป็นซุปเปอร์สต็อกตกลงมาจนถึงราคาที่เหมาะสมแล้ว ผมก็จะซื้อและถือว่านั่นเป็น “โอกาส” ที่เกิดขึ้นที่เราจะต้องฉวยไว้ และถ้ามันตกลงไปอีกก็ไม่ต้องเสียใจหรือเสียดายที่ซื้อเร็วเกินไป เพราะอนาคตมันอาจจะโตไปอีกมากจนราคาที่เราจ่ายมากไปหน่อยไม่มีความหมาย