ลุ้นคณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจ ออกแพ็กเกจการเงิน พัก-ยืดหนี้ผ่อนบ้าน

ลุ้นคณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจ ออกแพ็กเกจการเงิน พัก-ยืดหนี้ผ่อนบ้าน
ภาพจาก pexels

รัฐบาลห่วงปม “หนี้ครัวเรือน” ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น บอร์ดแก้วิกฤตเศรษฐกิจให้ความสำคัญดูแลหนี้รายย่อย เล็งร่วมมือแบงก์ปรับโครงสร้างยืดหนี้ผ่อนบ้าน 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ส่งผ่านมาจากข้างนอก อย่างราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมาก และเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านไปอีกหลาย ๆ อย่าง สิ่งที่กระทบไทยแน่ ๆ และกระทบแล้วก็คือ “เงินเฟ้อ” ส่วนที่จะกระทบต่อไปก็คือ “ดอกเบี้ย” และสิ่งที่ไม่รู้ว่ารอระเบิดอยู่หรือเปล่า ก็คือ “หนี้ครัวเรือน”

“คนที่เป็นหนี้ครัวเรือน ก็เป็นคนรายได้น้อย ซึ่งคนกลุ่มนี้เมื่อเจอเงินเฟ้อ ก็เท่ากับว่าเงินในกระเป๋าน้อยลง เท่านั้นยังไม่พอ อีกเดี๋ยวดอกเบี้ยก็จะขึ้นอีก คนกลุ่มนี้จึงน่าเป็นห่วงที่สุด โดยคนเหล่านี้ก็คือ ลูกค้าของบริษัทต่าง ๆ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ”

นายปิติกล่าวว่า ในเดือน ส.ค.นี้ อัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นแน่นอน เพราะสัญญาณมาชัดเจนแล้ว ตรงนี้น่ากังวล และต้องมาดูว่าทำอย่างไรจะช่วยกันลดภาระให้คนกลุ่มล่างนี้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาวิกฤตหนี้ครัวเรือนขึ้นมาได้ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเกิดจึงมีประสบการณ์เรื่องนี้น้อยมาก

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง 10 คน อยู่ระหว่างจัดกรอบวาระการพิจารณา เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมกับ 10 รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

โดยฝ่ายเลขานุการ คือ ปลัดกระทรวงการคลัง จะจัดลำดับความสำคัญของปัญหาระยะเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหา ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และระยะกลางในต้นปีหน้า รวมทั้งระยะยาวในปี 2566 คาดว่านายกรัฐมนตรีจะนัดประชุมทีมงานที่เกี่ยวข้องก่อน จากนั้นจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการร่วมกับ 10 รัฐมนตรี ในต้นเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับการบริหารสถานการณ์เฉพาะหน้า คณะอนุกรรมการให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคล ในสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ประชาชนมีภาระผ่อนบ้าน ที่อยู่อาศัย หากจะจัดการปัญหานี้ต้องมีการออกแพ็กเกจทางการเงิน ปรับโครงสร้างหนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้โมเดลเดียวกับการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวก่อนหน้านี้

แนวทางที่เป็นรูปธรรม จะคล้ายกับการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในช่วงปีที่ผ่านมา มาตรการการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคล เช่น การพักหนี้การผ่อนบ้าน อาจจะพักทั้งหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือพักเฉพาะเงินต้น แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เพื่อเป็นการยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป

ทั้งนี้ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการเบี้ยวหนี้ หรือการชักดาบ โดยคณะกรรมการต้องขอความร่วมมือกับธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้