กรมสุขภาพจิต ส่งทีม MCATT เยียวยาจิตใจ #กราดยิงหนองบัวลำภู

MCATT กรมสุขภาพจิต กราดยิงหนองบัวลำภู เยียวยาจิตใจ

กรมสุขภาพจิต ส่งทีม MCATT ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจในพื้นที่ประสบเหตุ จังหวัดหนองบัวลำภู

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต จัดทีมเร่งด่วนเพื่อเยียวยาจิตใจ (MCATT) ทันทีหลังเกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกครอบครัว รวมถึงผู้เห็น และอยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งสิ้น 88 ราย โดยทุกรายยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความเสี่ยงสูงจากภาวะปัญหาสุขภาพจิต

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การปฏิบัติการเยียวยาที่สำคัญโดยใช้หลักการ ปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid: PFA) เป็นกระบวนการสำคัญในการเยียวยาจิตใจอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ครอบครัว ญาติ และคนในพื้นที่ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนใกล้เคียง ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไป

การซักถามต่อผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง ลักษณะการถามที่มีลักษณะเจาะ เค้น ขุดคุ้ย จะเป็นการตอกย้ำภาพความรุนแรง เสียง บรรยากาศของความรุนแรงจะฉายวนอยู่ในจิตใจคนนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็นแผลลึก ทำให้เยียวยา คลี่คลายได้ยาก

และหากจำเป็นต้องกระทำ ขอให้ทำโดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจความรู้สึกและข้อจำกัดตรงนี้ด้วย การถามต้องพร้อมรับฟังอารมณ์ ความรู้สึก ไม่สร้างคำถามที่ทำให้รู้สึกคุกคาม ทำให้ต้องกลับไปคิดวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ทำให้เขารู้สึกผิด หรือกล่าวโทษตอกย้ำ

กรณีการดูแลจิตใจกลุ่มเด็กและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ที่กำลังอยู่ในสภาพของความหวาดกลัว ตระหนก ควรให้การดูแลอย่างเร่งด่วนที่สุด รู้สึกปลอดภัย อยู่ในสถานที่ที่รอดพ้นจากอันตรายแล้ว ทำให้รู้สึกได้รับการปกป้องทางร่างกายและความรู้สึกได้จากผู้ปกครอง/คนที่คุ้นเคย โดยการรับฟัง และเข้าใจการแสดงออก ท่าทางของเด็ก ๆ

ทั้งนี้ ควรระมัดระวัง ไม่ควรสอบถาม ซักไซ้ ขุดคุ้ย ให้เล่าถึงเหตุการณ์ เพื่อให้ตอบคำถามถึงเหตุการณ์นี้ซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจที่ลึกและเรื้อรังยากต่อการเยียวยา และในกลุ่มญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเยียวยาผลกระทบสภาพทางอารมณ์ทันที ดูแลบาดแผลทางจิตใจให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจระยะยาว

แพทย์หญิงอัมพรกล่าวต่ออีกว่า ในการเยียวยาสร้างความเข้มแข็งทางใจในชุมชน ให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่ สามารถใช้หลักการ Safe คือการสร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยกลับมาโดยเร็ว Calm การไม่กระจายข่าวลือ หรือการส่งต่อข้อมูลจนเกิดการตื่นตระหนก Hope การสร้างความหวังให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ และ Care การใส่ใจดูแลในสังคมร่วมกัน

โดยทีม MCATT จะติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ และเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจในพื้นที่ โดยกระจายตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย พร้อมกับพัฒนาสังคมและตำรวจในพื้นที่

การเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตประชาชนหลังประสบเหตุ หรือที่เรียกว่าโรคเครียดภายหลังภยันตราย PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งจะมีอาการ ดังนี้

ตื่นกลัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีอาการหวาดกลัว ตื่นตระหนก ตกใจง่าย กระสับกระส่าย วิตกกังวล คิดมาก มองโลกและตนเองในแง่ลบ นอนไม่หลับ หงุดหงิด สมาธิแย่ลง บางรายอาจมีความรู้สึกผิด รู้สึกซึมเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง หรือการคิดเรื่องทำร้ายตัวเอง ดังนั้น จึงขอให้สำรวจความรู้สึกตัวเองว่า “โกรธ/ก้าวร้าว จนไม่สามารถจัดการได้หรือไม่”

หากมีความรู้สึกดังกล่าว ขอให้ตั้งหลัก หาทางออก เช่น ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวรับฟัง และใส่ใจคนรอบข้าง หากไม่สามารถจัดการความรู้สึกตัวเองได้ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือ โทร.สายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง