ศักดิ์สยาม หารือทูตสหภาพยุโรป เล็งร่วมมือดันไทยสู่เกตเวย์ระดับโลก

ศักดิ์สยามร่วมหารือเอกอัครราชทูตยุโรปดันไทยสู่เกตเวย์ระดับโลก หาความร่วมมืออาเซียน ใช้ระบบควบคุมรถไฟด้วยระบบมาตรฐานยุโรป

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ H.E. Mr. David Daly เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าพบในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) ด้านคมนาคมขนส่ง ในประเด็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยมีนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เข้าร่วมหารือ

ที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) ด้านคมนาคมขนส่ง ได้แก่

1) โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สำคัญใน 4 มิติของกระทรวงคมนาคมและการพิจารณาแนวทางในการร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์เกตเวย์ระดับโลกของยุโรป (the European Global gateway strategy) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การขนส่งอัจฉริยะ การขนส่งที่ยั่งยืน และเสริมสร้างความปลอดภัยในทุกรูปแบบการขนส่ง รวมทั้งการเชื่อมโยงสินค้า ผู้คน และบริการทั่วโลก

2) ความร่วมมือ EU-อาเซียน ด้านการใช้ระบบการควบคุมการเดินรถไฟด้วยระบบอาณัติสัญญาณกลาง (European RailTrafficManagement System : ERTMS) ในภูมิภาค ซึ่งระบบ ERTMS เป็นระบบมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับสำหรับกลุ่มสหภาพยุโรปและหลายประเทศทั่วโลก

โดยเป็นระบบที่มุ่งหมายในการเพิ่มความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถไฟในแง่ของการเพิ่มความจุของทางรถไฟ ทั้งนี้ แต่ละประเทศสามารถนำมาศึกษาและพิจารณานำระบบดังกล่าวมาใช้ เพื่อให้สามารถเดินรถไฟระหว่างกันได้

3) ความร่วมมือกับองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (the European Aviation Safety Agency: EASA) ในประเด็นการดำเนินการระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Services: HEMS) สืบเนื่องจาก EASA ได้หารือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เกี่ยวกับการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการปฏิบัติการบินและการกำกับดูแลการปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ซึ่งปัจจุบัน กพท.ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้การรับรอง HEMS แก่ผู้ประกอบการเฮลิคอปเตอร์ที่ประสงค์จะให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อประโยชน์ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ลดอัตราการสูญเสีย

ทั้งนี้ ประเด็นการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) ด้านคมนาคมขนส่งในครั้งนี้ ทางฝ่ายสหภาพยุโรปให้ความสนใจในวิสัยทัศน์ของกระทรวงคมนาคมทั้ง 4 มิติ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง โครงการ Land Bridge ชุมพร-ระนอง โครงการ MR-MAP


รวมไปถึงแนวทางที่กระทรวงคมนาคมจะผลักดันการขนส่งด้วยพลังงานสะอาด ทั้งรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสารธารณะ และรถไฟระหว่างเมือง โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือและผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป