ราชกิจจาฯเผยแพร่ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย อีก 120 วัน บังคับใช้

ราชกิจจานุเบกษา

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กำหนดโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ปรับสูงสุด 1 ล้านบาท มีผลบังคับใช้อีก 120 วันข้างหน้า

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยระบุว่า เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ มาตรา 5 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  1. ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือค ารับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
  2. ลงโทษผู้ถูกกระทำ เพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม
  3. ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
  4. เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน

มาตรา 7 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว หรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้น ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น

กำหนดโทษสูงสุด จำคุกตลอดชีวิต ปรับสูงสุด 1 ล้าน

หมวด 5 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ระบุโทษของการละเมิดความผิดกรณีซ้อมทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย ไว้ดังนี้

มาตรา 35

กระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 -300,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

มาตรา 36

ผู้กระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 37

ผู้กระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 -300,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

มาตรา 38

ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 35 หรือมาตรา 36 เป็นการกระทำแก่ บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุ หรือความป่วยเจ็บ

ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 37 เป็นการกระทำแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง

มาตรา 39

ผู้ใดสมคบเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 ต้องระวางโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ถ้าได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ในกรณีที่ความผิดได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้สมคบทำให้การกระทำนั้นกระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ศาลจะลงโทษผู้สมคบที่กระทำการขัดขวางนั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้

มาตรา 40

ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

มาตรา 41

ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 38 วรรคสอง มาตรา 39 หรือมาตรา 40 ช่วยให้มีการค้นพบผู้ถูกกระทำให้สูญหายก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้

มาตรา 42

ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตน จะกระทำ หรือได้กระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 และไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

กำหนดชัด ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง-บันทึกข้อมูลตลอดการควบคุมตัว

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการกำหนดวิธีการควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐบันทึกข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ของผู้ต้องหา รวมทั้ง บันทึกภาพและเสียงขณะควบคุมตัวจนถึงปล่อยตัว และมีข้อมูลการควบคุมตัวและปล่อยตัว ไปจนถึงคำสั่งที่ระบุเหตุผลของการควบคุมตัว

พร้อมทั้งกำหนดให้มี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ทำหน้าที่กำหนดนโยบายป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย รวมทั้ง ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและเท็จจริง และรายงานสถานการณ์ดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

สำหรับ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือประมาณวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566