กทม.ไม่ถอยหนี้ BTSC-รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีช่องโหว่ รอศาล-ครม.ชี้ขาด

สายสีเขียว

กทม.จัดแถลงข่าวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลั่นพร้อมจ่ายหนี้ หากกระบวนการครบถ้วน โยนศาลปกครองสูงสุด-คณะรัฐมนตรีชี้อนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียว

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 กรุงเทพมหานครได้จัดการแถลงข่าวความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

กทม. ตั้งข้อสังเกตก่อนจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายวิศณุกล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกันคือ 1.ส่วนสัมปทานหรือที่เรียกติดปากว่าส่วนไข่แดง ได้แก่ ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน โดยส่วนนี้สัญญาสัมปทานจะหมดในปี 2572

2.ส่วนต่อขยายที่ 1 ได้แก่ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า โดยส่วนนี้กรุงเทพมหานครได้ทำสัญญาจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT ทำการเดินรถไฟฟ้า และทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่าจ้างเอกชนทำการเดินรถต่ออีกทอด

3.ส่วนต่อขยายที่ 2 ได้แก่ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยส่วนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดอยู่ในรูปแบบหนังสือมอบหมายงาน และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่าจ้างเอกชนเดินรถ

กทม. ตั้งข้อสังเกตก่อนจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายวิศณุกล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 แตกต่างกัน โดยส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 นั้นไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร

และเมื่อพิจารณาตามขัอบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง บริษัทที่กรุงเทพมหานครก่อตั้ง จำกัด หรือถือหุ้น พ.ศ. 2522 ในข้อที่ 16 ได้ระบุไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นสมควร ผู้ว่าราชการอาจจัดงบประมาณอุดหนุนในการดำเนินงานของบริษัทได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร

และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2536 ได้ระบุไว้ในข้อ 17 ว่าการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อ ๆ ไปผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะสั่งให้ก่อหนี้ผูกพันได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร

และมีข้อสังเกตอีกประการว่าในการทำสัญญาติดตั้งงานระบบระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC นั้นได้ทำสัญญามูลค่ากว่า 19,358 ล้านบาทในวันที่ 28 มิถุนายน 2565

ก่อนจะมีบันทึกมอบหมายงานระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 อีกทั้งบันทึกมอบหมายงานฉบับนี้ไม่มีการทำโครงการเสนอขออนุมัติงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งจุดนี้เองคือกระดุมเม็ดแรกของกรุงเทพมหานครที่กลัดผิด

โดยสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ได้พยายามขออนุมัติงบประมาณต่อสภากรุงเทพมหานครเมื่อปี 2561 และ 2564 แล้วแต่สภากรุงเทพมหานครไม่ได้อนุมัติงบประมาณดังกล่าว

สำหรับประเด็นการชำระหนี้ในการจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 นั้น กรุงเทพมหานครไม่สามารถชำระได้ เนื่องจากค่าจ้างเดินรถเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี (2572-2602) จากคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 ที่ออกเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 กรุงเทพมหานครจึงหยุดการจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562

แนวทางดำเนินการต่อไปของรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายวิศณุกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการต่อไปของโรงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวคือ การรอผลการพิจารณาร่างสัญญาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี (2572-2602) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

โดยมีแนวทาง 2 แนวทางคือ 1.คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการต่อสัมปทาน 30 ปี หากเป็นกรณีนี้หนี้ทั้งหมดจะหายไปทันที 2.คณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบให้ต่อสัมปทาน 30 ปี

กรณีหากเป็นแนวทางที่ 2 กรุงเทพมหานครจะดำเนินการต่อไปได้ โดยในส่วนของค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 กรุงเทพมหานครสามารถจ่ายให้แก่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดได้ทันที

แต่หากเป็นส่วนต่อขยายที่ 2 จะต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ หากสภากรุงเทพมหานครให้สัตยาบันย้อนหลังก็จะสามารถตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายหนี้ทั้งส่วนค่าจ้างเดินรถและส่วนติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าได้ แต่ถ้าหากสภากรุงเทพมหานครไม่ให้สัตยาบันย้อนหลัง จะต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อจะสามารถจ่ายหนี้ได้ตามคำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการต่อไปของโรงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวคือ การรอผลการพิจารณาร่างสัญญาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี (2572-2602) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และส่วนที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฟ้องกรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม ให้ชำระหนี้ตามสัญญาเดินรถและซ่อมบำรุงซึ่งอยู่ในขั้นตอนของศาลปกครองสูงสุด

ยืนยัน กทม. มีเงินพอจ่าย

ด้านนายต่อศักดิ์กล่าวว่า รายงานการเงินของกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 กรุงเทพมหานครมีเงินสำรองสะสมรวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท กรุงเทพมหานครพร้อมจะจ่ายหนี้ทั้งหมดหากทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการ

และต้องขอขอบคุณผู้ให้บริการที่ไม่หยุดการเดินรถซึ่งจะเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้บริการ


“หากกรุงเทพมหานครเกิดความเสียหายในค่าจ้างเดินรถและค่าติดตั้งงานระบบในรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จะต้องมีการหาข้อเท็จจริงต่อไป เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร” นายวิศณุกล่าวในตอนท้าย