คมนาคม ถม 8 หมื่นล้าน เปิดภูเก็ต เจียระไนไข่มุกอันดามัน

ภูเก็ต

10 ธันวาคม 2565 กล่าวได้ว่าเป็นวันนี้ที่รอคอยสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย

โดยประเทศไทยจัดอีเวนต์ Amazing Thailand 10 Million Celebrations ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคนที่ 10 ล้าน แจ็กพอตแตกสำหรับ นางนาจูด อัลไควเตอร์ และ นายไฮซัมอัลมัดลึจ ชาวซาอุดีอาระเบีย จากเที่ยวบิน SV 846 สายการบินซาอุดีอาระเบียน แอร์ไลน์

ส่งสัญญาณการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่หัวเมืองหลักท่องเที่ยวอย่าง “เชียงใหม่-ภูเก็ต” เป็นที่ทราบดีว่าเมืองแตกไปเรียบร้อยแล้ว จากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทะลักทะล้นหลังยุคโควิด

คมนาคมเล็งลงทุน 8 หมื่นล้าน

ก่อนหน้านั้น เมืองท่องเที่ยวระดับโลกฉายาไข่มุกแห่งอันดามัน “เกาะภูเก็ต” กำลังเข้าสู่โหมดของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวอย่างเต็มกำลังเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคมชุดใหญ่ไฟกะพริบ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของกระทรวงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

โดยโครงการที่ถูกจัดสรรลงไปที่พื้นที่ภูเก็ตนั้น มีครบถ้วนทุกโหมดการขนส่ง ทั้ง “บก-ราง-น้ำ-อากาศ”

เบาะ ๆ มีเม็ดเงินลงทุนในแผนทั้งสิ้นมากกว่า 8.1 หมื่นล้านบาท เพื่อเจียระไนไข่มุกอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาสของไทย ให้สวยงามและมีความพร้อมต้อนรับแขกผู้มาเยือนมากกว่าเดิม

โหมโรงทางด่วน 4.5 หมื่นล้าน

เมกะโปรเจ็กต์เริ่มต้นกันที่โหมดการเดินทาง “ทางถนน” เจ้าภาพมาจาก 2 หน่วยงานหลักคือ กรมทางหลวง (ทล.) กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เงื้อง่าโครงการทางด่วนแห่งแรกของเกาะ มูลค่าลงทุนแตะหลักหมื่นล้านบาท จำนวน 2 สายทางด้วยกัน

ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร เชื่อมโครงข่ายการเดินทางระหว่างหาดป่าตองกับอำเภอกะทู้ ช่วยบรรเทาปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพยามเกิดภัยพิบัติ วงเงินลงทุน 14,670 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR เพื่อจัดหาเอกชนมาร่วมลงทุน รูปแบบ PPP ถ้าหากสามารถรันขั้นตอนการเปิดประมูลและประกาศเอกชนผู้ชนะประมูลก่อสร้างได้ตามแผน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570

2.โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กิโลเมตร มุ่งแก้ปัญหาการจราจรในภาพรวม มีวงเงินลงทุน 30,896 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการ ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 เช่นกัน

รถไฟ-BRT ลิงก์เดินทางสนามบิน

โหมดการขนส่งทางราง พิมพ์เขียวการลงทุนมี 2 เมกะโปรเจ็กต์ ได้แก่ 1.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตระยะที่ 1 ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง เป็นหนึ่งในแพ็กเกจ “รถไฟฟ้าต่างจังหวัด” ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระยะทาง 42 กิโลเมตร

ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสมและปรับปรุงแบบ โดย “รมว.ศักดิ์สยาม” สั่งการให้มีการแก้ไขแบบจากระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tram) มาเป็นรูปแบบเมกะโปรเจ็กต์ล้อยาง BRT (Bus Rapid Transit) โดยใช้รถบัสไฟฟ้า EV Bus

เหตุผลในการปรับแบบโครงการ เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าต้องใช้งบประมาณก้อนโต การปรับจากเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้ามาเป็นล้อยางจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

2.ทางรถไฟสายใหม่ จากสถานีท่านุ่น จังหวัดพังงา มายังสถานีสนามบินนานาชาติภูเก็ต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายรถไฟ หรือ R-Map ของกรมการขนส่งทางราง ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,918 ล้านบาท

สำหรับโหมดทางราง มีออปชั่นเสริมจากเมกะโปรเจ็กต์รหัส “MR9” เส้นทางลากยาว 155 กิโลเมตร จากสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต หนึ่งในแนวเส้นทางตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง โดยรวมการขนส่ง 2 รูปแบบคือ “ระบบราง+มอเตอร์เวย์” ไว้ในโครงการเดียวกัน

แนวเส้นทาง MR9 มีระยะทางรวม 252 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางร่วมของระบบรางและมอเตอร์เวย์ 155 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ

“ครุยส์เทอร์มินอล” จ่อลงทุน

โหมดคมนาคมขนส่งทางน้ำ เจ้าภาพคือ กรมเจ้าท่า (จท.) ประกาศแผนโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ 2 โครงการ ได้แก่ 1.การพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต ซึ่งในภาพใหญ่จะเป็นการพัฒนา 4 ท่าเรือใน 3 จังหวัดท่องเที่ยวทางทะเล “ภูเก็ต กระบี่ พังงา” โดยภูเก็ตมีการปักหมุดโครงการพัฒนาที่ท่าเรืออ่าวปอ

“สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์” รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าโครงการท่าเรืออ่าวปอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบประมาณในปีงบประมาณ 2567 วงเงินลงทุน 280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2569

2.โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) มีท่าเรือหลัก 3 จังหวัด “ภูเก็ต ชลบุรี เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี” เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวระดับ luxury ซึ่งประมาณการว่าจะมีการใช้จ่ายต่อวันต่อหัว 6,400 บาท

สำหรับท่าเรือในจังหวัดภูเก็ต วางแผนให้มีขีดความสามารถรองรับเรือจอด 219 เที่ยวต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ มีความคืบหน้าแล้ว 60%

กราฟฟิกลงทุนภูเก็ต

เพิ่มขีดสามารถสนามบินภูเก็ต

โหมดคมนาคมขนส่งทางอากาศ โปรเจ็กต์ไม่ซับซ้อน เพราะเป็นเกาะขนาดเล็ก มีสนามบินนานาชาติเพียงแห่งเดียว และไม่สามารถสร้างสนามบินแห่งใหม่เพิ่มได้อีก

ดังนั้น เนื้องานจึงจะเป็นการพัฒนาสนามบินนานาชาติภูเก็ตเฟส 2 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นงานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน ลานจอด GSE และงานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค

วงเงินลงทุน 6,211 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA

รอเสียบเจ้าภาพ EXPO 2571

ผลจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้เกาะภูเก็ตยังคงสถานะเป็นจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก เมื่อมองเห็นศักยภาพนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ได้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต และกระทรวงสาธารณสุข ในการเสนอตัวจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงาน specialised EXPO 2028 หรือปี 2571

ธีมจัดงาน “Future of Life : Living in Harmony, Sharing Prosperity-ชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว”

หากสำเร็จ เกาะภูเก็ตในฐานะเป็นเจ้าภาพจัด EXPO คาดว่าสามารถดึงดูดผู้ร่วมงานหมุนเวียน (Visitation) จากนานาประเทศทั่วโลกได้ถึง 7 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศระหว่างการจัดงาน 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หากจับแผนลงทุนคมนาคม ซึ่งวางแผนให้สร้างเสร็จในปี 2570 มาวางเรียงคู่กับกำหนดจัดงาน EXPO ในปี 2571 ต้องบอกว่าเมืองไทย โดยเฉพาะเกาะภูเก็ตยังมีสิทธิ์ลุ้น

ความคืบหน้าปัจจุบัน อยู่ระหว่างการคัดเลือกเมืองเจ้าภาพจัดงาน specialised EXPO 2028 ซึ่งจะประกาศผลในเดือนมิถุนายน 2566 นี้