ทร.เร่งค้นหาผู้สูญหาย 23 ราย เผย เรือหลวงสุโขทัยเพิ่งซ่อมบำรุง 2 ปีก่อน

เรือหลวงวสุโขทัย
(แฟ้มภาพ) ญาติของลูกเรือที่สูญหายกำลังดูผลสรุปการปฏิบัติงานที่ท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ระหว่างการค้นหาผู้รอดชีวิต จากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอัปปางกลางทะเล (Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

โฆษกกองทัพเรือ เผย เร่งค้นหาผู้สูญหายอีก 23 ราย ชี้แจง เรือหลวงสุโขทัยเพิ่งซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ไปเมื่อ 2 ปีก่อน ตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง อัพเดตยอดผู้สูญหายและเสียชีวิต

วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เช้าวันนี้ได้สัมภาษณ์ พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงเกี่ยวความคืบหน้า เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุการณ์พายุคลื่นลมแรงกลางทะเลอ่าวไทย บริเวณพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 ธันวาคม 2565 โดยอัพเดตล่าสุด (08.30 น.วันนี้) กำลังพลทั้งหมด 105 นาย ค้นพบแล้ว 82 นาย รอดชีวิต 76 นาย เสียชีวิต 6 นาย กำลังค้นหา 23 นาย

พล.ร.อ.ปกครองกล่าวว่า สำหรับปฏิบัติการแผนค้นหาในวันนี้ (21 ธ.ค.) เราได้ใช้กำลังเรือเดิมที่เรามีอยู่ รวมถึงเพิ่มเติมเข้าไปด้วยอากาศยาน มีเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล จำนวน 2 ลำ และมีเฮลิคอปเตอร์ช่วยชีวิตอีก 2 ลำ รวมทั้งอากาศยานไร้คนขับ UAV จำนวน 1 ลำ และได้รับการสนับสนุนจากทางกองทัพอากาศ เครื่องบินลาดตระเวนอีก 2 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 1 ลำ

ตอนนี้เราได้ปรับพื้นที่ลาดตระเวนจากเมื่อวาน เรานำกระแสลมกับกระแสน้ำมาคำนวณ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ก็จะครอบคลุมพื้นที่ค่อนข้างกว้างประมาณ 15 คูณ 20 ตารางไมล์ทะเล เทียบเท่า 30 คูณ 40 กิโลเมตร

จากรายงานเมื่อเช้าวันนี้ ทัศนวิสัยรวมทั้งคลื่นลมเบากว่าเมื่อ 2 วันที่แล้วมาก ใกล้เคียงกับวันก่อน น่าจะเป็นข่าวดีทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นชัดเจนขึ้น

พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน
พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ (ภาพจากมติชน)

โฆษกกองทัพเรือยังกล่าวอีกว่า ในก่อนที่เรือหลวงสุโขทัยจะอับปางลง ผู้การเรือได้มีการสั่งให้สละเรือใหญ่ เมื่อมีการสละเรือใหญ่ กำลังพลทุกนายต้องขึ้นมาอยู่บนดาดฟ้าทำการเช็กยอดกำลังพลของแต่ละแผนก ซึ่งที่ได้รับรายงานในเบื้องต้นก่อนเรือจะอับปาง ทางเรือหลวงสุโขทัยได้รายงานว่า กำลังพลเรือทั้ง 105 นาย ปลอดภัยทุกนาย หลังจากเช็กยอดไม่มีใครที่ติดอยู่ภายในเรือขึ้นบนอยู่ดาดฟ้าเรือทั้งหมด

“สำหรับภารกิจในการค้นหา ตราบใดที่พี่น้องเรายังกลับบ้านไม่ได้ทั้งหมด คงจะต้องลาดตระเวนค้นหาไปเรื่อย ๆ เพียงแต่จะมีการปรับแผนว่าจะเปลี่ยนแปลงการค้นหาอย่างไร คงต้องรอทางเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้วางนโยบายอีกครั้งหนึ่ง”

ตอนนี้ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบหมายให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ตั้งคณะกรรมการในเรื่องที่จะดำเนินการกู้เรือมาอยู่ เนื่องจากว่าเราต้องรีบดำเนินการในการกู้เรือขึ้นมาพอสมควร เนื่องจากว่าภายในเรือเราที่จมไป ส่วนหนึ่งที่เรากลัวในอันตรายเรื่องน้ำมัน มีน้ำมันที่อยู่ในเรือจำนวนพอสมควร กลัวว่าจะหลุดรอดกลายเป็นมลพิษทางทะเล ตอนนี้เราพยายามที่จะวางแผนกู้ให้เร็วที่สุด

ภารกิจครั้งนี้คือการช่วยเหลือค้นหาผู้ประสบภัย เนื่องจากคลื่นลมแรง ในเรื่องของอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นมิสไซล์ ฮาร์พูน ตอร์ปิโด รวมถึงลูกปืนใหญ่ ทำให้ไม่ได้โหลดไปกับเรือที่ค้นหาไปด้วย

นอกจากนี้ เรายังมีความคาดหวังหลังจากที่เรากู้เรือหลวงสุโขทัยมาได้แล้ว เรายังมีความคาดหวังว่าเรือหลวงสุโขทัยยังสามารถมาปฏิบัติราชการได้ต่อ เนื่องจากอายุของเรือหลวงสุโขทัย ณ ถึงวันที่อับปางลง มีอายุ 36 ปี แต่ที่จริงแล้วเรือรบคอร์เวตของเรือหลวงสุโขทัย อายุราชการจริง ๆ คือ 40 ปี

เรือหลวงสุโขทัย
แฟ้มภาพ

อย่างไรก็แล้วแต่ เนื่องจากว่าเรือลำนี้เป็นเรือที่มีสมรรถนะสูงสามารถรบได้ทาง 3 มิติ ทั้งในอากาศ บนเรือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ รวมถึงมีจรวดมิสไซล์ที่มีคุณค่าสูง เราก็เลยมีแผนที่จะอัพเกรดเรือหลวงสุโขทัยกับเรือรัตนโกสินทร์ เรือชุดนี้มี 2 ลำ เราจะอัพเกรดต่ออายุการใช้งานให้เขา 5-10 ปี แต่พอดีมาเกิดเหตุการณ์นี้ก่อน เราจึงต้องมาประเมินกันอีกครั้ง

“เรือลำนี้มีคุณค่าต่อกองทัพเรือมาก และได้ร่วมภารกิจกับกองทัพเรือมาอย่างมากมาย กองทัพเรือรู้สึกเสียดาย ไม่อยากให้เขาจมต้องปลดระวางไป”

ผมคิดว่ากองทัพเรือทุกนายมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน ตัวผมเองรู้สึกเข้าใจ ตอนนี้กองทัพเรือได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะว่ามันน่าจะเป็นเหตุซึ่งผิดปกติด้วยความแรงของคลื่นลมขนาดนี้ ยอมรับว่าวันนั้นคลื่นลมแรงอย่างมาก จากการได้สอบถามผู้บังคับการเรือ ความสูงของคลื่น 5-6 เมตร

ทางผู้บังคับการเรือได้พยายามอย่างเต็มที่ ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกอย่าง สุดท้ายก็ไม่สามารถประคองเรือไว้ได้จึงจำเป็นต้องประกาศสละเรือใหญ่ และในวันนั้นเองก็มีเรือสินค้าอับปาง 2 ลำ รวมทั้งเรือประมง อับปางอีก 3 ลำ บริเวณใกล้เคียงกัน

คงต้องรอผลสอบสวนจากคณะกรรมการที่สอบหาข้อเท็จจริง ซึ่งหน่วยเทคนิคก็จะเป็นของ กรมอู่ทหารเรือจะต้องดำเนินการเข้าสอบสวนข้อเท็จจริงรายงานให้ทางผู้บังคับบัญชารับทราบ คงต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยเหลือในการกู้เรือ กองทัพเรือขีดความสามารถในการกู้เรือต้องดูว่าจะสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองหรือไม่

“เรือหลวงสุโขทัยเพิ่งได้มีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จริง ๆ เรือต้องอยู่ในสภาพพร้อมพอสมควร เพราะเรือที่ออกจากอู่ได้ 2 ปี ค่อนข้างจะพร้อม เนื่องจากการซ่อมบำรุงใหญ่ของเรือ เราจะใช้คอมพิวเตอร์สแกนตั้งแต่หัวเรือจดท้ายเรือว่ามีส่วนไหนที่ตัวลำเรือบางบ้าง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ท้องเรือแตก ท้องเรือทะลุ เราก็จะมีการสแกน มีการใช้เหล็กเข้าไปเสริม ดำเนินการซ่อมทำ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดย้ำว่าตัวเรือนั้นแข็งแรง” โฆษกกองทัพเรือกล่าว