อธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกรับเงินผลประโยชน์ อะไรบ้าง ก่อนถูกจับสด

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุืพืช
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ที่มาภาพ เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุืพืช

พฤติการณ์อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรียกรับผลประโยชน์อย่างไรบ้าง ขณะที่อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร้องเรียน ป.ป.ช. ชี้มีรายรับต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

วันที่ 28 ธันวาคม 2565 สืบเนื่องจากการที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้สนธิกำลังเข้าจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช วานนี้ (27 ธ.ค.)

โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนของ ป.ป.ช. เพื่อแจ้งเอาผิดนายรัชฎาไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่เรื่องถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งและต้องจ่ายเงินเป็นรายเดือนส่งให้อธิบดีรายนี้

จากนั้นวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ป.ป.ช.จึงได้เรียกนายชัยวัฒน์เข้าไปสอบสวนเพิ่มเติม และมีการสนธิกำลังกับ ป.ป.ป. เพื่อดำเนินการจับกุมต่อไป โดยร่วมมือเป็นหน้าม้าถือเงินจำนวน 98,000 บาทเข้าไปมอบให้อธิบดี

นายรัชฎาจึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิด เป็นเจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต

สำหรับข้อกล่าวหาจากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เพื่อเอาผิดนายรัชฎา ว่ามีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่เหมาะสม มีดังนี้

มีพฤติกรรมเรียกรับเงินในการปรับเปลี่ยนโยกย้าย/เลื่อนระดับ อาทิ

1.พฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่เหมาะสม กลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ เรียกเก็บค่าตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม

นายชัยวัฒน์กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่าอธิบดีรายนี้มีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่เหมาะสม และกลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมจ่ายเงินวิ่งเต้น โดยมีการออกหนังสือว่าถ้าอธิบดีมีการออกคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามให้บุคคลใดไปแทนบุคคลใดให้ถือปฏิบัติตามนี้ และบุคคลที่ถูกแทนให้กลับไปตำแหน่งเดิม (หมายถึงตำแหน่งของตนเองก่อนหน้านี้)

คำสั่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในกรมอุทยานฯ ถือเป็นสัญญาณให้เจ้าหน้าที่เตรียมวิ่งเต้นกันก็ว่าได้ ซึ่งมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายออกมาทุกวันทุกสัปดาห์ ใครวิ่งได้ก็ได้ย้าย ถึงขนาดตำแหน่งปฏิบัติการได้เป็นผู้อำนวยการส่วนบริหารเลยก็มี

เจ้าหน้าที่บางคนถึงกับต้องเอารถไปจำนองหรือกู้สหกรณ์เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าตำแหน่ง เรื่องดังกล่าวอาจเป็นการรักษาครอบครัวที่ลงหลักปักฐานแล้วมากกว่ารักษาตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำไป

รวมถึงกลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมจ่ายเงินวิ่งเต้น  500,000 บาท ไปยังตำแหน่งอื่น ๆ ที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัย

2.เรียกเก็บค่าเลื่อนระดับในตำแหน่งชำนาญการพิเศษและเจ้าพนักงานอาวุโส

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า เป็นช่วงจังหวะพอดีที่ตนต้องส่งเงินจำนวนหนึ่งให้กับอธิบดี ตนจึงลองเข้าไปคุยเนื่องจากอยากรู้ว่าการรับเงินดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ปรากฏว่ามีการเรียกรับเงินจริง และมีการคุยเรื่องตำแหน่งชำนาญการพิเศษและเจ้าพนักงานอาวุโสด้วย ในราคาถึง 1 ล้านบาท หลังจากนั้นตนจึงได้เข้าพบกับพนักงานสอบสวนอย่างจริงจัง

ในช่วงปลายปี ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาอวยพรปีใหม่ พร้อมนำเงินมาจ่ายให้อธิบดีอยู่แล้วตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งการจ่ายเงินมีไปแล้ววันที่ 26 ธันวาคม 2565 และมีอีกชุดหนึ่งในวันเข้าจับกุม

ในหนึ่งเดือนเงินที่ส่งมีไม่ตำกว่า 20-30 ล้านบาท เฉพาะเงินที่ถูกหักเป็นเปอร์เซ็นต์ ส่วนเงินซื้อตำแหน่งซี 8 หรือชำนาญการพิเศษนั้นแยกส่วนกัน

สำหรับเงินคงตำแหน่ง ถ้าจะไปดำรงตำแหน่งที่หน่วยงานมีงบประมาณมาก เงินที่ส่งก็จะมากตามไปด้วย ซึ่งเป็นหลักล้านบาทขึ้น ต่อมาเป็นอุทยานเกรดเอ และบี ต้องจ่ายประมาณ 3-5 แสนบาท ทั้งหมดจึงขึ้นกับว่าตำแหน่งนั้น ๆ มีงบประมาณมากน้อยเพียงใด เช่น รายได้เข้าชมอุทยาน เป็นต้น

3.ตัดเปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายรายเดือนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า เงินเปอร์เซ็นต์ที่อธิบดีรายนี้เรียกเก็บ มาจากส่วนของงบประมาณที่ถูกส่งจากส่วนกลางไปให้หน่วยงานต่าง ๆ ในกรม ซึ่งจะถูกหักถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หรือเรียกว่าเงินทอนนั่นเอง

สำหรับเงินรายเดือนที่ต้องส่งให้อธิบดีฉาวรายนี้ ก็มาจากงบประมาณปกติที่ส่งไปให้เช่นกัน ซึ่งจะถูกชักจากงบประมาณในการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อส่งส่วยเข้าสู่ส่วนกลาง เช่น ดึงจากงบประมาณจัดการไฟป่า เป็นต้น

ดังนั้น เงินที่อธิบดีรายนี้เรียกรับจึงประกอบไปด้วย เงินก่อน เงินรายเดือน และเงินเปอร์เซ็นต์