“บอร์ดประกันสังคม” นัดถกไร้ประเด็นสรรหากรรมการชุดใหม่ นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะ “กาบัตรดิจิทัล”

ความคืบหน้ากรณี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการสรรหาคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดใหม่ แทนชุดเก่าที่หมดวาระ เนื่องจากหากจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเสนอแนวทางที่หลากหลายกลับมาให้พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน บอร์ด สปส.ชุดรักษาการที่มี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จะมีการประชุมหารือเรื่องดังกล่าวในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ นั้น

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 9.00 น. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม ได้เรียกประชุมบอร์ดประกันสังคม แต่ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือแต่อย่างใด มีเพียงการรายงานผลการร้องเรียนของผู้ประกันตนต่อที่ประชุมเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ขณะที่ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส.ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ศึกษาแนวทางการสรรหาบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ก็ไม่ได้เข้าประชุมเนื่องจากอยู่ระหว่างลาพักผ่อนที่ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้แสดงความคิดเห็นว่า ในฐานะนักวิชาการสนับสนุนให้ดำเนินการตามกฎหมาย คือ จัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้ผู้แทนของตนเองเข้าไปบริหารกองทุนประกันสังคมอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งนั้น หากยังใช้วิธีการหรือรูปแบบเดิมๆ ซึ่งประเมินว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือที่คณะกรรมการประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เสนอทางเลือกอื่นที่อาจใช้เงินเพียง 500 ล้านบาทนั้น ยังเห็นว่าเป็นตัวเลขที่สูง ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าควรศึกษาแนวทางอื่นเพิ่มเติม เช่น ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการจัดการเลือกตั้ง

“เราอาจจะต้องศึกษาตัวอย่างการเลือกตั้งในต่างประเทศ ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการจัดการเลือกตั้ง เราอาจไม่จำเป็นต้องไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งให้เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่าย แต่อาจจะใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก และสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เข้าไปลงคะแนน ซึ่งหากนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เชื่้อว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก อาจจะใช้เงินจริงๆ ไม่ถึง 500 ล้านบาท ก็เป็นได้” น.ส.วรวรรณกล่าวและว่า ประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนมาก หากจะใช้ช่วยคิดโปรแกรมที่ใช้ในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ไม่น่าจะเกินความสามารถแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่แนวทางนี้จะยิ่งทำให้การสรรหาบอร์ดประกันสังคมล่าช้าออกไปอีกหรือไม่ เพราะต้องหาคนทำโปรแกรม น.ส.วรวรรณ กล่าวว่า ในระหว่างนี้ก็ยังมีบอร์ด สปส.ชุดรักษาการปฎิบัติหน้าที่ และยังทำงานต่อไปได้ โดยไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนแต่อย่างใด

 

ที่มา : มติชนออนไลน์