ชัชชาติมอบโล่ขอบคุณทีมกู้ภัย กทม. ในตุรกี

ปกเรื่อง ชัชชาติ สิทธิพันธ์

ชัชชาติมอบโล่ขอบคุณทีมกู้ภัย กทม. ในภารกิจกู้ภัยแผ่นดินไหวตุรกี เตรียมถอดบทเรียนภัยพิบัติ

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมมอบโล่ขอบคุณ และประกาศนียบัตรแก่ทีม USAR Thailand ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 คน และสุนัขกู้ภัย K9

นายชัชชาติกล่าวว่า การดำเนินการของทีมกู้ภัยเป็นสิ่งที่แสดงน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งมีสถานการณ์รุนแรงและน่าเป็นห่วง ไม่ง่ายที่จะฟื้นกลับคืนมา

ตลอดการปฎิบัติภารกิจ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้โทรหาทีม USAR Thailand ของกรุงเทพมหานครทุกวัน เวลา 09.00 น. และ 18.00 น. เพื่อติดตามสถานการณ์ ดีใจที่ทุกคนกลับมาอย่างสวัสดิภาพ และได้ความรู้เพิ่มเติมด้วย

จากความห่วงใยของพี่น้องประชาชนหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานคร มองว่าการที่เรามีทีมงานได้ไปเห็นเหตุการณ์จริง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เรามีองค์ความรู้มากขึ้น จากนี้อาจจะหารือกับทางเอกชน เช่น มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่มีสุนัขกู้ภัยอยู่ 6 ตัวว่าจะมีความร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง เพราะเครือข่ายที่เข้มแข็งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือ เมื่อเกิดอุบัติภัย

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากสภาพเมืองของกรุงเทพมหานครจะคล้ายคลึงกับสาธารณรัฐตุรกีแล้ว ยังคล้ายกับเม็กซิโก ที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวขนาดลึก แต่ต่างกันคือ ตำแหน่งรอยเลื่อน จากที่เคยเรียนมา กรุงเทพมหานครเหมือนชามเยลลี่ หากสั่นมีจังหวะสอดคล้องกับความถี่ของชั้นดิน อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ทั้งนี้แผ่นดินไหวมาจากแรงด้านข้าง การออกแบบอาคารเผื่อแรงลม ช่วยได้บ้าง แต่คงต้องให้ผู้รู้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อาจจะต้องมีการแบ่งกลุ่มอาคาร เช่น อาคารที่มีความเสี่ยงสูง อาคารที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

ADVERTISMENT

นายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดยาวกองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 3 กรุงเทพมหานคร ในฐานะหัวหน้าทีม USAR Thailand เปิดเผยว่า รับผิดชอบหน้าที่ค้นหา (Search) และกู้ภัย (Rescue) เปรียบเสมือนนาทีทอง หากเข้าถึงตัวผู้ประสบภัยได้เร็วจะช่วยลดอาการบาดเจ็บ และมีโอกาสรอดชีวิต เป็นภารกิจที่ต้องฝึกฝนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้หน้างานมีพื้นที่อาคารถล่ม จึงต้องทำงานร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการส่งทีมวิศวกรเข้าไปช่วยประเมินความเสี่ยงของอาคารด้วย เพราะระหว่างปฎิบัติงานมีอาฟเตอร์ช็อกตลอดเวลา

“ผู้บริหารระดับสูง มีข้อความไปถึง ให้กำลังใจ บอกให้เก็บประสบการณ์ ลักษณะสภาพบ้านเรือน และภูมิประเทศ เพื่อถอดบทเรียน เพราะความหนาแน่นของอาคารในจังหวัดฮาทัย คล้ายคลึงกับกรุงเทพมหานคร ประสบการณ์ที่ได้คือ น้ำใจและการบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายจากทั่วโลก ทำให้ภารกิจสมบูรณ์แบบมากขึ้น” นายภุชพงศ์กล่าว

ADVERTISMENT