
14 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันที่ 9 ของการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและซีเรีย นับจากวันแรกที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566
หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาและสัปดาห์ที่สองกำลังดำเนินไป มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทั้งในด้านความสูญเสีย ความพยายามเยียวยาช่วยเหลือ และด้านการเมือง “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างน้อย 10 ประเด็น ต่อไปนี้
ผู้คนที่รับผลกระทบ และจำนวนผู้เสียชีวิต
เหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 7.8 แมกนิจูด และอาฟเตอร์ช็อกมากกว่าร้อยครั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 คาดว่ามีผู้ได้รับกระทบในประเทศตุรกีและซีเรียรวมกันเกือบ 20 ล้านคน
เฉพาะในประเทศตุรกี เจ้าหน้าที่ทางการตุรกีเปิดเผยคาดการณ์ว่า มีประชาชนประมาณ 13.5 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้
ส่วนในซีเรีย สหประชาชาติ (United Nations: UN) คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 5.3 ล้านราย
จำนวนผู้เสียชีวิต ตามข้อมูลของสหประชาชาชาติ และรัฐบาลซีเรีย อัพเดต ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 12.30 น. ตามเวลาตุรกี ซึ่งตรงกับ 16.30 น. ตามเวลาไทย พบผู้เสียชีวิตเกิน 37,000 รายแล้ว เป็นผู้เสียชีวิตในประเทศตุรกี 31,643 ราย และผู้เสียชีวิตในประเทศซีเรียมากกว่า 5,800 ราย แต่ผู้เสียชีวิตในตุรกีจำนวนหนึ่งเป็นชาวซีเรียที่อพยพลี้ภัยสงครามกลางเมืองข้ามแดนไปพักพิงประเทศตุรกี
และตามคาดการณ์ของสหประชาชาติ จำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงถึง 50,000 ราย
ผ่านมาถึงวันที่ 9 ยังพบผู้รอดชีวิต
ข่าวดีเพียงเล็กน้อยในสถานการณ์ที่เลวร้ายคือ ในวันที่ 9 นับจากวันเกิดเหตุ หรือผ่านไปแล้วราว 200 ชั่วโมง ทีมกู้ภัยยังพบผู้รอดชีวิตและสามารถช่วยออกมาได้
Al Jazeera รายงานว่าในช่วงเช้าและสายวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทีมกู้ภัยในเมืองคาห์รามันมาราชช่วยผู้รอดชีวิตออกมาจากกองซากปรักหักพังได้สองราย คนหนึ่งเป็นวัยรุ่นชายวัย 17 ปี และอีกรายเป็นผู้ใหญ่เพศชาย และก่อนหน้านั้นในวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ ก็มีรายงานการช่วยผู้รอดชีวิตได้ในบางเมือง
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า อาสาสมัครกู้ภัยยอมรับว่าความหวังริบหรี่เต็มที และในพื้นที่ประเทศซีเรีย กลุ่ม White Helmets บอกกับสื่อในช่วงสายวันที่ 14 กุมภาพันธ์ว่า การค้นหาใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เพราะมีสิ่งบ่งชี้ว่าไม่มีผู้รอดชีวิตเหลืออยู่แล้ว แต่ตอนนี้ทีมค้นหาก็จะพยายามตรวจสอบค้นหาขั้นสุดท้ายอีกรอบในทุกจุดเกิดเหตุ

การช่วยเหลือซีเรียล่าช้าเพราะอุปสรรคทางการเมืองในพื้นที่
นานาชาติพยายามระดมความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดตั้งแต่ในวันที่เกิดเหตุ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความช่วยเหลือหลั่งไหลไปยังตุรกีมากกว่า
ส่วนการเข้าไปช่วยเหลือซีเรียเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากซีเรียมีสงครามกลางเมืองยืดเยื้อมาสิบกว่าปี การจะเข้าไปช่วยเหลือมีความซับซ้อนในเชิงพื้นที่และการเมือง โดยพื้นที่เกิดเหตุนั้นเป็นพื้นที่ในควบคุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
การจะเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุทำได้สองทาง ทางแรกคือเข้าผ่านชายแดนซีเรีย-ตุรกี ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหประชาชาติและหน่วยงานของสหรัฐอเมริกากับอียูใช้วิธีนี้ในการเข้าไปช่วยเหลือชาวซีเรีย ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีจุดผ่านแดนที่ยังใช้การอยู่เพียงจุดเดียว คือจุดผ่านแดน Bab al-Hawa และเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวก็ยิ่งทำให้การข้ามจุดผ่านแดนเข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุยากขึ้นอีก
ส่วนทางที่สอง คือ เจรจาให้รัฐบาลซีเรียยอมเปิดด่านที่กั้นระหว่างพื้นที่ในการดูแลของรัฐบาลเพื่อให้ขบวนความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุได้ ซึ่งหมายความว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนานาชาติที่จะเข้าไปช่วยเหลือกับรัฐบาลซีเรีย
อุปสรรคสำคัญคือ รัฐบาลซีเรียถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ซึ่งชาติตะวันตกและพันธมิตรยืนยันว่าจะไม่ให้ความช่วยเหลือชาวซีเรียผ่านรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตนเองเด็ดขาด ความช่วยเหลือจะทำผ่านองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพันธมิตรที่เชื่อถือได้เท่านั้น ดังนั้น การเข้าไปช่วยเหลือของชาติตะวันตกจึงเหลือทางเดียวคือผ่านจุดผ่านแดนที่ชายแดนตุรกี
ในอีกด้านหนึ่ง ถ้านานาชาติจะเคลื่อนขบวนความช่วยเหลือผ่านพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลซีเรีย ก็ไม่มีอะไรการันตีว่ารัฐบาลซีเรียจะอนุญาต และกลุ่มตรงข้ามรัฐบาลที่ควบคุมพื้นที่นั้น ๆ อยู่ก็ไม่น่าจะอนุญาตเช่นกัน

รัฐบาลซีเรียยอมเปิดจุดผ่านแดนเพิ่ม มีนัยทางการเมืองตามมา
นับตั้งแต่วันแรก ๆ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายถึงความพยายามในการหาทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในซีเรีย ทั้งเรียกร้องให้สหประชาชาติลงมติเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม และเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียเปิดด่านจากพื้นที่ของรัฐบาลเพื่อให้ขบวนความช่วยเหลือผ่านเข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุ
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศระดมเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เร่งเปิดลงมติการเปิดจุดผ่านแดนแห่งใหม่ เพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้เร็วขึ้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งตรงกับเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ตามเวลาไทย รัฐบาลสหรัฐออกมาเรียกร้องให้ บาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar Hafez al-Assad) ประธานาธิบดีซีเรียให้การช่วยเหลือแก่ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือในทันทีโดยไม่มีข้อยกเว้น และเรียกร้องให้อนุญาตให้การเคลื่อนย้ายส่งมอบความช่วยเหลือผ่านด่านของรัฐบาลตุรกีอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
นอกจากนั้น สหรัฐเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ลงมติเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มติมที่ชายแดนซีเรีย-ตุรกีในทันที เพื่ออนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือจากสหประชาชาติไปยังพื้นที่เกิดเหตุทางตอนเหนือฝั่งตะวันตกของประเทศซีเรีย
และในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่า ทางการตุรกีได้เสนอต่อสหประชาชาติให้เปิดจุดผ่านแดนที่พรมแดนตุรกี-ซีเรียอีก 2 แห่ง
กระทั่งช่วงค่ำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ Al Jazeera รายงานอ้างอิง Reuters ว่า หลังการเจรจาของสหประชาชาติ บาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) ประธานาธิบดีซีเรีย ตกลงที่จะให้สหประชาชาติเปิดจุดผ่านแดนเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังประชาชนซีเรียในพื้นที่ประสบภัย อีก 2 แห่ง ที่ชายแดนซีเรีย-ตุรกี โดยกำหนดเวลา 3 เดือน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ หัวหน้ากลุ่มสนับสนุนฝ่ายค้านซีเรียประณามสหประชาชาติที่ให้อำนาจตัดสินใจแก่อัสซาด ซึ่งเป็นการทำให้เขามีความชอบธรรมทางการเมืองขึ้นมา ทั้งที่สหประชาชาติสามารถใช้มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสั่งเปิดจุดผ่านแดนโดยไม่ต้องผ่านความยินยอมของเขาได้
ตุรกีคาดความเสียหาย 84,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า สมาพันธ์วิสาหกิจและธุรกิจแห่งตุรกี (Turkish Enterprise and Business Confederation) ประเมินคาดการณ์ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวมีมูลค่าสูงถึง 84,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท
สมาพันธ์วิสาหกิจและธุรกิจแห่งตุรกีระบุว่า มูลค่าความสูญเสียที่คาดการณ์ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารที่อยู่อาศัย 70,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การสูญเสียรายได้ประชาชาติ (national income) 10,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการสูญเสียวันทำงานคิดเป็นมูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ค่าใช้จ่ายหลักคือ การก่อสร้างที่อยู่อาศัย สายส่งไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดหาที่พักพิงในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้แก่ผู้ประสบภัยจำนวนหลายแสนคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย
ด้านประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) ของตุรกีกล่าวว่า รัฐบาลจะสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และรัฐบาลกำลังจัดเตรียมโครงการเพื่อ “ทำให้ประเทศชาติกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง”

โบราณสถาน แหล่งมรดกโลก เสี่ยงพังทลาย
เนื่องจากประเทศตุรกีเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมหลายจักรวรรดิสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่จักรวรรดิโรมันตะวันออก จักรวรรดิไบเซนไทน์ และจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งมรดกทางอารยธรรมเหล่านั้นยังหลงเหลืออยู่ให้เห็นหลายแห่งทั่วประเทศตุรกีและประเทศซีเรีย แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อโบราณสถานบางแห่งด้วย
ในพื้นที่ประเทศตุรกีและซีเรียมีโบราณสถานหลายแห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ซึ่งตามข่าวที่ยูเนสโกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ยูเนสโกเป็นกังวลว่าแหล่งมรดกโลกจะเสียหาย และได้ร่วมกับพันธมิตรลงพื้นที่สำรวจความเสียหายแล้ว ในเบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานว่ามีแหล่งมรดกโลกแห่งใดเสียหาย
โบราณสถานที่เห็นชัดเจนว่าพังเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ คือ “ปราสาทกาซีอันเตป” (Gaziantep Castle) แม้จะไม่ใช่มรดกโลก แต่ก็เป็นมรดกอารยธรรมยุคโรมันที่ตั้งอยู่กลางเมืองกาซีอันเตปมากว่า 2,000 ปี

จากการขุดค้นทางโบราณคดีมีหลักฐานว่าปราสาทหินแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเพื่อเป็นหอสังเกตการณ์ในสมัยจักรวรรดิโรมัน ในช่วงศตวรรษที่ 2-3 ก่อนคริสตกาล และต่อมามีการขยายต่อเติมให้เป็นปราสาทเต็มรูปแบบ ส่วนรูปแบบปราสาทที่เห็นในยุคปัจจุบันเป็นรูปแบบที่ต่อเติมปรับปรุงในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์ ในช่วง ค.ศ. 527-565
ภาพที่ปรากฏหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวคือ หลายส่วนของประสาทพังทลายลงมา เศษซากกระจัดกระจายบนพื้นดินเบื้องล่าง
ตามการรายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนักระบุว่า ส่วนประกอบของปราสาทที่พังเสียหายคือป้อมปราการทางทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนที่ยังไม่พังก็มีรอยร้าวที่น่ากังวลว่าอาจจะพังตามกันลงมาอีกหรือไม่
มีการปล้นสะดมอาหารและของใช้จำเป็น
Al Jazeera รายงานเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีอุปสรรคหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือมีการปล้นสะดมอาหารและสิ่งของจำเป็นที่จะนำเข้าไปให้การช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย
ประธานาธิบดี เรเจป ไตยยิป แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) ของตุรกี กล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ขณะลงพื้นที่เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ว่า ว่า รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว จะดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปล้นสะดมและอาชญากรรมอื่น ๆ อย่างจริงจัง
ต่อมา วันที่ 11 กุมภาพันธ์ สื่อของรัฐบาลตุรกีรายงานว่า ทางการตุรกีจับกุมผู้ก่อเหตุและผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุปล้นสะดมได้แล้ว 48 ราย ในพื้นที่ 8 จังหวัด
ตุรกีดำเนินคดีผู้รับเหมา เหตุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
CNN รายงานในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 อ้างอิงสำนักข่าว Anadolu ของตุรกีว่า ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชนในประเทศ ทางการตุรกีกำลังสอบสวนผู้รับเหมาก่อสร้าง 163 คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุอาคารถล่ม ซึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกสอบสวน 8 คนถูกจับกุมแล้ว และอีก 48 คนอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ
ทั้งนี้ การเกิดเหตุแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องแปลกในตุรกี เนื่องจากประเทศนี้ตั้งคร่อมอยู่บนแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่น แต่เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสร้างความเสียหายมาก
ตุรกีมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารที่เข้มงวดขึ้น หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองอิซมิตเมื่อปี 2542 ซึ่งการมีกฎหมายที่เข้มงวดน่าจะทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นใหม่ภายใต้กฎหมายนั้นจะทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ หรืออย่างน้อยก็ทนทานมากกว่าอาคารเก่า แต่เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ กลับกลายเป็นว่าอาคารจำนวนมากที่พังทลายลงนั้นเป็นอาคารที่สร้างใหม่
ประชาชนผู้อยู่อาศัยและผู้เชี่ยวชาญจึงกำลังตั้งคำถามว่ารัฐบาลตุรกีล้มเหลวในการยังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารหรือไม่ และหลายคนอาจมองว่าการเร่งดำเนินคดีกับผู้รับเหมาเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะโยนความรับผิดชอบจากรัฐไปให้เอกชน
ยาเซมิน ดิเดม อักตัส (Yasemin Didem Aktas) วิศวกรโครงสร้างและอาจารย์ประจำ University College London กล่าวกับ CNN ว่า แม้แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกจะเป็นเหตุการณ์ที่มีพลังทำลายล้างมากซึ่งท้าทายแม้กระทั่งอาคารที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขนาดความเสียหายที่เกิดขึ้นในตุรกีบ่งชี้ว่าอาคารเหล่านั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างได้มาตรฐานความปลอดภัย
“สิ่งที่เราเห็นอยู่นี้กำลังบอกเราว่ามีบางอย่างผิดปกติในอาคารเหล่านั้น และอาจเป็นไปได้ว่าอาคารเหล่านั้นไม่ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับกฎหมายควบคุมตั้งแต่แรก หรือไม่ได้ออกแบบการใช้งานมาอย่างเหมาะสม”
“เราเห็นค่อนข้างบ่อยว่าในตุรกีมีการปรับเปลี่ยนอาคารหลังการเข้าอยู่อาศัย ซึ่งส่งผลให้ความปลอดภัยของโครงสร้างลดน้อยลง” อักตัส ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรโครงสร้างกล่าว

เยอรมนีเสนอตัวให้ที่พักพิงแก่ผู้ประสบภัย
Al Jazeera รายงานเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า รัฐบาลประเทศเยอรมนีเสนอตัวที่จะให้ที่พักพิงและให้การดูแลแก่ชาวตุรกีและซีเรียที่รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว หากผู้ประสบภัยสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในการขอวีซ่าได้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวว่า เป้าหมายของรัฐบาลเยอรมนีคือการทำให้ชาวตุรกีและซีเรียเดินทางไปยังเยอรมนีได้โดยเร็วและโดยง่าย ภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคคือผู้ประสบภัยไม่มีพาสปอร์ตติดตัว และไม่น่าจะทำได้เร็วนักในพื้นที่ประสบภัย
“พาสปอร์ตหายเป็นปัญหาแน่นอน ผู้ที่สูญเสียทุกอย่างไม่น่าจะมีหนังสือเดินทาง แต่เราไม่สามารถบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยของหนังสือเดินทางของทางการตุรกี และไม่สามารถออกเอกสารการเดินทางใหม่ให้กับชาวต่างชาติได้” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีกล่าวกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวของรัฐบาลที่กรุงเบอร์ลิน

เกิดกระแสชาวตุรกีต้านชาวซีเรีย
หลายปีที่ผ่านมา ชาวซีเรียจำนวนหลายล้านคนได้อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองเข้าไปพักพิงในเมืองชายแดนของประเทศตุรกี ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้
ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ Reuters รายงานว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความเดือดร้อน และความไม่ทั่วถึงในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจผู้ลี้ภัยชาวซีเรียขึ้นในหมู่ประชาชนชาวตุรกี
ชาวเติร์กหลายคนในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวกล่าวหาว่าชาวซีเรียปล้นร้านค้าและบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย มีการทวีตข้อความต่อต้านชาวซีเรียบนทวิตเตอร์ เช่น “เราไม่ต้องการชาวซีเรีย”, “ผู้อพยพควรถูกเนรเทศ” และ “ไม่ต้อนรับอีกต่อไป”
ขณะที่ชาวซีเรียบอกกับผู้สื่อข่าวในพื้นที่ว่าพวกเขาถูกกล่าวหาว่าขโมยของ ถูกไล่ออกจากค่ายพักพิงฉุกเฉิน ไม่มีที่พักอาศัย และถูกดูหมิ่นดูแคลน
“เราเลิกไปดูการกู้ภัยในสถานที่เกิดเหตุ เพราะผู้คนโห่ไล่เรา และผลักไสเราออกไปรอบนอกเมื่อพวกเขาได้ยินเราพูดภาษาอาหรับ”
“ผู้คนกล่าวหาว่าเราลักขโมยของตลอดเวลา แต่นั่น (ไม่จริง) เป็นเพียงการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาเท่านั้น” ชายชาวซีเรียคนหนึ่งบอก