“วิษณุ” แจงการบินไทยต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ 5 ปี

บมจ.การบินไทย จะออกจากกระบวนการล้มละลายได้ คาดว่าจะใช้เวลา 5 ปี เช่นเดียวกับกิจการ 52 แห่ง ที่เคยเข้ากระบวนการนี้มาแล้ว ในรอบ 20 ปีที่ผ่าน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า  วันนี้ (27 พ.ค. 2563) ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) แล้ว ซึ่งผลจากคำสั่งศาลจะทำให้การบินไทยเข้าสู่สภาวะ Automatic Stay (สภาวะพักการชำระหนี้) ตามมาตรา 90/12 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2498 ซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องการบินไทยได้ ทำได้อย่างเดียวคือการยื่นขอชำระหนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางรับคำร้องฯ แล้ว จากนี้ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องเพื่อพิจารณาว่าสมควรให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หากเห็นควรศาลจะสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเริ่มกระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งจะใช้เวลาอีก 3 เดือน ก่อนนำแผนให้ที่ประชุมเจ้าหนี้รับรองและให้ศาลอนุมัติแผน และตั้งผู้บริหารแผนเข้ามาซึ่งเป็นอีกชุดเข้ามาบริหารตามแผน

อย่างไรก็ตาม ตามหลักที่ทั่วโลกปฏิบัติผู้ทำแผนกับผู้บริหารแผนก็มักจะเป็นชุดเดียวกัน แต่ผู้ทำแผนจะมีจำนวนมากว่า เมื่อมาเป็นผู้บริหารแผนแล้วก็อาจจะมีน้อยคน ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่แผนฟื้นฟูกิจการต้องเสนอให้คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งและมีนายวิษณุเป็นประธานพิจารณาก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามฯ จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ เพราะเรื่องนี้จะไปยุ่งสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้จะติดคุกได้ เพราะตามกฎหมายเมื่อเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการแล้วถ้าใครไปวิ่งเต้นถือเป็นความผิด และตามคำสั่งแต่งตั้ง

คณะกรรมการติดตามฯ ก็สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้เฉพาะส่วนที่ไม่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น ที่ต้องมีคณะกรรมการติดตามฯ เพื่อเป็นตัวแทนภาครัฐนี้ก็เพราะมีประเด็นที่การบินไทยยังต้องเกี่ยวข้องกับรัฐ ทั้งกรณีที่มีสหกรณ์จำนวนมากลงทุนในหุ้นกู้ของการบินไทย และการประกอบธุรกิจของการบินไทยต้องประสานงานกับหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นการท่าอากาศยานไทย กองทัพอากาศ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO)

“กว่าจะถึงขั้นตอนที่เสนอให้ศาลสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ คงใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นใช้เวลาฟื้นฟูฯ 5 ปี ซึ่งกฎหมายฟื้นฟูกิจการของไทยอยู่ในหมวด 3/1 ของพ.ร.บ.ล้มลาย ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2541 โดย 20 กว่าปีที่ผ่านมามีกิจการที่เข้าสู่การฟื้นฟูฯ 52 แห่ง บริหารฟื้นฟูฯสำเร็จ 20 แห่ง ไม่สำเร็จและล้มละลายไป 20 กว่าแห่ง และยังเหลือคาอยู่ 10 ปีไม่เสร็จอีกประมาณ 7 แห่ง” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า Automatic Stay จะครอบคลุมห้ามเจ้าหนี้ต่างประเทศฟ้องด้วยหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่เจ้าหนี้ฟ้องต่อศาลต่างประเทศกฎหมายไทยคงไม่มีเขตอำนาจครอบคลุมไปถึง แต่หากเจ้าหนี้จะเข้ามาฟ้องต่อศาลไทยก็ทำไม่ได้เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ส่วนว่าจะมีการยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่นั้นขั้นอยู่กับการดำเนินการของการบินไทย ที่ผ่านม ครม. เพียงรับทราบว่าอาจจะมีการยื่นต่อศาลสหรัฐฯ เท่านั้น