“บอร์ดกระจอก” ประกบแผนฟื้นฟูการบินไทย นัยยะผูกไม่ให้พันสไตล์ “วิษณุ”

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 รับทราบ “คำสั่งนายกรัฐมนตรี” เลขที่ 143/2563 แต่งตั้งให้ 9 รายชื่อ ซึ่งมีองค์ประกอบจากทั้ง 2 ขั้วอำนาจ และ 1 สายตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าเป็น “คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)”

ประกบการทำแผน-บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า กรรมการชุดนี้ถือเป็น “คณะกรรมการปรองดอง” หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “หักดิบ-ตีกลับ” ทั้งชื่อ-ทั้งแผนที่เรียกว่าการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ของฝ่ายการเมือง ที่ชงมาจากเจ้ากระทรวงคมนาคม สังกัดพรรคภูมิใจไทย

เพราะก่อนหน้าที่จะมีชื่อ 9 รายอันประกอบไปด้วย ขั้วของนายกรัฐมนตรี-ข้าราชการประจำ-สายของ 2 พรรคการเมือง ทั้งนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่กำกับกระทรวงการคลัง และสายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ คุมกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต่างฝ่ายต่างขึงตึง-ชิงไหว ชิงพริบกันแทบทุกช็อต

กระทั้งมติคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบภาพ-แผน ของ บมจ.การบินไทย ทั้งยื่นศาลล้มละลาย-ตั้งบอร์ดบริหารใหม่-ตั้งทีมมือดีเตรียมทำแผน พร้อมบริษัทที่ปรึกษาด้านกฏหมาย

ส่วนกรรมการปรองดอง-ที่ถูกวาดภาพใหญ่โตว่าเป็น “ซูเปอร์บอร์ด” นั้นมีองค์คณะ 2 ขั้ว 1 สาย ประกอบด้วย

  1. นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน สายนายกรัฐมนตรี
  2. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีต รมว.คลัง สาย พปชร.
  3. นายประสงศ์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง สาย พปชร.
  4. นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม สาย ภท.
  5. นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สาย ภท.
  6. นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม สายนายกรัฐมนตรี
  7. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สายนายกรัฐมนตรี
  8. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สายนายกรัฐมนตรี
  9. นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สาย พปชร.

มีหน้าที่และอำนาจเป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของภาครัฐโดยไม่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาของศาล กลั่นกรอง ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกหรือประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการพื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจการของ บริษัท การบินไทย ตามที่มีการร้องขอ และไม่ขัดต่อกฎหมาย

ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือ ครม.มอบหมาย รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ ครม.เป็นระยะ ๆ ข้อคณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะเรื่องได้ ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังกำหนดรายงานเสนอความเห็นต่อ ครม.เป็นระยะ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สรุปว่าบอร์ดชุดนี้เป็นเพียง “บอร์ดกระจอก”​

“คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ด แต่เป็นบอร์ดที่เชื่อมโยงในฐานะเป็นคนกลางระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ซึ่งเดิมไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะตอนเป็นรัฐวิสาหกิจก็สามารถติดต่อได้เอง แต่เมื่อเป็นเอกชนแล้วก็เหมือนการการติดต่อระหว่างแอร์เอเชียและเจแปนแอร์ไลน์ที่จำเป็นต้องมีคนกลาง”

“หากถามว่าทำไมต้องมีคนกลางและทำไมต้องติดต่อคำตอบคือ สหกรณ์ 80 กว่าแห่งถือหุ้นกู้ที่อยู่ในนั้นก็จะมีคนเดือดร้อน อีกทั้งตำรวจก็ยังต้องมีการสอบสวนว่าใครผิดใครถูกในเรื่องการขายตั๋วหรือขายอะไรต่อมิอะไร รัฐบาลก็จะไม่มีโอกาสทราบ ขณะเดียวกันก็อาจมีการไปยืดการเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟู”

“ซึ่งสุดท้ายก็จะไม่รู้ว่าทำอะไรที่ไหน ข้อสำคัญคือการบินไทยยังสามารถที่จะบริหารองค์กรอยู่ได้ โดยยังต้องใช้สนามบินและติดต่อกองทัพอากาศ ซึ่งหากไม่ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็จะไม่มีช่องทางตรงนี้และอาจทำให้การฟื้นฟูสะดุดได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ดแต่เป็นเพียงมินิบอร์ด…บอร์ดกระจอก”

คำว่า “บอร์ดกระจอก” โดยนัยยะ ของ “นายวิษณุ” น่าจะมาจากความหมายของระดับ “ที่ปรึกษา” ที่เขาเคยให้ความหมายไว้ว่ามาจาก “ตระกูลนก” ที่บิน 3 ระดับ ดังนี้

  1. ที่ปรึกษาระดับ “นกกระจอก” คือบินต่ำ ตอบได้ทุกข้อ-ทุกคำ กระจ้อก กระจิบ พูดไปได้ทุกเรื่อง ให้ความเห็นได้ทุกคำถาม แต่ไม่มีน้ำหนัก ในการนำไปพิจารณา
  2. ที่ปรึกษาระดับ “พญาอินทรี” บินสูง บินใกล ให้คำตอบได้ บอกแนวทางแก้ไขได้ และหากแก้ไขแล้วผิดพลาด มีทางที่จะแก้ไขได้
  3. ที่ปรึกษาระดับ “พญาครุฑ” คือนัยยะอยู่ในที่สูง ให้คำตอบที่ยากที่สุด คำถามที่ไร้ทางออก ให้มีทางออกได้ บอกแนวทางแก้ไขได้ คิดโจทย์ขึ้นมาใหม่ พร้อมวิเคราะห์แนวทางแก้ไข เรียงลำดับสำคัญมาก-ไปหาน้อย หากแก้ปัญหาไม่ได้ หรือเกิดปัญหาซ้ำซ้อนระหว่างทาง สามารถขึ้นโครงคำตอบใหม่-ถอด-รื้อ คำถามเก่า สร้างชุดเนื้อหาใหม่ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แทนคำถามที่ตั้งมาแต่ต้นได้

ที่ปรึกษาระดับที่ 3 หรือ “พญาครุฑ” นั้น เมืองไทยที่ “วิษณุ” เห็นและเชื่อถือคือ “มีชัย ฤชุพันธ์”