“กัญชง” คืออะไร? ทำความรู้จักก่อนปลดล็อก ดีเดย์ 29 ม.ค.

ทำความรู้จักกัญชง
ภาพจาก ภาพโดย NickyPe จาก Pixabay

ทำความรู้จัก “กัญชง” ก่อนปลดล็อกให้ประชาชนขออนุญาตปลูกได้พรุ่งนี้ (29 ม.ค.) เส้นใยนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ทั้งเสื้อผ้า-เสื้อเกราะกันกระสุน-กระดาษ-โครงสร้างประกอบงานก่อสร้าง-ฉนวนกันความร้อน 

วันที่ 29 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ลงนามในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.)

ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตปลูกได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง ซึ่งสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ช่อดอกนำไปผลิตยา สารสกัดจากกัญชง

ใบนำไปผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง, น้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง, สารสกัดจากกัญชงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ภายใต้กฎกระทรวงฉบับนี้สามารถขออนุญาตส่งออกกัญชงได้ และภายใน 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ สามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาปลูกได้อีกเช่นกัน

โดยผู้ที่ต้องการขออนุญาตให้ยื่นคำขอ ณ สถานที่ปลูกที่ตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนผู้ขอนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ให้ยื่นคำขอที่ อย.

“ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ อย. จะจัดอบรมทางออนไลน์ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชง ในเรื่องกฎหมาย การยื่นคำขออนุญาตเกี่ยวกับกัญชง และการขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชง ผู้ที่สนใจสามารถรับชมทาง Facebook Live FDAThai หรือสอบถามรายะเอียดเพิ่มเติมที่เบอร์ 0-2590-7771-3” ภญ.สุภัทรา กล่าว

ทำความรู้จัก “กัญชง”

ก่อนที่กฎกระทรวงจะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “กัญชง” ไว้ ดังนี้

ภาพจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน

ข้อมูลจาก “เทคโนโลยีชาวบ้าน” เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ระบุว่า กัญชง (Hemp) มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับกัญชา แต่เนื่องจากมีสารสำคัญ ทั้ง THC และ CBD ต่ำมาก จึงไม่ได้จัดอยู่ในประเภทยาเสพติด

ลักษณะคือมีเส้นใยคุณภาพดีนำมาใช้ในการถักทอได้ดีมาก กัญชง เป็นพืชล้มลุกอายุข้ามปี มีความสูง 1-6 เมตร รูปร่างคล้ายกัญชา แต่มีข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ ขอข้อ หรือชั้นของกิ่งสูงชะลูดกว่ากัญชา กัญชงมีใบเหมือนกัญชา แต่มีสีเขียวซีดกว่า

ส่วนที่เหมือนกันคือ ต้นเพศผู้กับต้นเพศเมียแยกกันอยู่คนละต้น และเมล็ดแก่เต็มที่มีขนาดเล็ก และรูปร่างกลมรีเหมือนกัน และ กัญชาแมว (Catnip) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nepeta cataria จัดอยู่ในประเภทมินท์ หรือสะระแหน่ ต้นเดี่ยวสูงเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร พบเห็นขึ้นอยู่ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป มีสารออกฤทธิ์ ชื่อว่า Nepetalactone

ผลของสารชนิดนี้ช่วยให้แมวแสดงอาการร่าเริง แต่ในทางตรงข้ามในสุนัขกลับทำหน้าที่คล้ายยานอนหลับ ส่วนที่แมวชอบกัดกินคือส่วนราก

ส่วนสรรพคุณทางยาสำหรับมนุษย์ ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นและช่วยลดอาการไข้ได้ดี รูปร่างหน้าตาของกัญชาแมว เป็นประเภทใบเดี่ยว ทรงพัด กลมรี กว้างและยาว 5-6 เซนติเมตร ก้านใบยาวเท่ากัน ที่ 5-6 เซนติเมตร ออกเวียนรอบต้นเดี่ยวไม่มีแตกแขนง ออกดอกสีเขียว เป็นช่อรูปแบบเหมือนลูกชิ้นที่อยู่ในไม้เสียบทิ้งระยะห่าง ๆ แต่มีรูปร่างเหมือนขันเล็ก ๆ คว่ำลงแทนลูกชิ้น ในหนึ่งช่อจะมีดอกเพศเมีย 10-14 ดอก ส่วนเกสรเพศผู้จะอยู่ปลายสุดของช่อ

ภาพโดย Erin Stone จาก Pixabay

บทบาท “กัญชง” ต่อวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง

เทคโนโลยีชาวบ้าน เผยด้วยว่า กัญชง หรือ เฮมพ์ เป็นพืชที่มีบทบาทต่อการดำรงชีวิต และวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาเผ่าม้งมานานแล้ว และการที่มีการปลูกการใช้เส้นใยอยู่ในแวดวงจำกัด เนื่องจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กำหนดให้เฮมพ์เป็นพืชเสพติดประเภท 5 ตามพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งก็มีบทบาทลักษณะเดียวกับกัญชา พืชกระท่อมและฝิ่น จึงทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลายสำหรับประชาชนทั่วไป

ในปี 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ มีพระราชประสงค์ให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกเฮมพ์ เพื่อใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายในตลาดส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้จากงานหัตถกรรม

ขณะเดียวกัน มูลนิธิโครงการหลวงได้เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญ จึงได้ศึกษารวบรวมเมล็ดพันธุ์เฮมพ์ในพื้นที่โครงการหลวงนำมาทดลองปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อ 1 มีนาคม 2548 หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการพัฒนาและส่งเสริมเฮมพ์ ให้ผลิตเป็นรายได้เสริมแก่เกษตรกรรายย่อยหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันการศึกษา หน่วยงานทหารและตำรวจที่เกี่ยวข้อง มีมติโดยเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์ บนพื้นที่สูงภาคเหนือ ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2553-2557 เพื่อให้เป็นที่นำร่องในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ

โดยเกษตรกรจะใช้พันธุ์เฮมพ์ที่เก็บไว้ใช้ปลูกเอง หลายสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือก มีสารเสพติดต่ำ แต่ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์วี 50 พันธุ์ปางอุ๋ง พันธุ์แม่สาใหม่ และพันธุ์ห้วยหอย เกษตรกรเข้าร่วมโครงการและฝึกอบรม 500 ราย พัฒนาผืนผ้า นอกจากเฮมพ์หลากหลายลวดลาย

รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรในการลอกเปลือกในการผลิตเส้นใยเฮมพ์ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เสื้อผ้า หมวก ผ้าเช็ดตัว ผืนผ้า รองเท้า กระเป๋า วัสดุแทนสิ่งทอ เสื้อเกราะกันกระสุน ทำกระดาน หรือบอร์ด กระดาษ กระเป๋าเดินทาง โครงสร้างประกอบงานก่อสร้าง ฉนวนกันความร้อน แกนของต้นเฮมพ์ซึ่งลอกเปลือกออกแล้วมีความแข็งแรง มีรูพรุนภายในระบายอากาศได้ดี สามารถนำไปดัดแปลงแปรรูปต่าง ๆ ได้มากมาย

ภาพจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน
ภาพจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน

การปลูกกัญชง

สำหรับระยะปลูกไม่สำคัญมากนัก แต่ถ้าทำตามคำแนะนำของโครงการปลูกเป็นแถว ก็มีระยะ 15-20 เซนติเมตร หากใช้วิธีหยอดหลุมก็จะหยอดหลุมละ 5 เมล็ด แล้วถอนเหลือ 3 ต้น กำจัดวัชพืชเมื่ออายุประมาณ 30-45 วัน ใส่ปุ๋ย แต่สำหรับชาวม้งจะใส่เฉพาะขี้เถ้าตามภูมิปัญญาชาวไทยภูเขา ปลูกได้ 75-90 วัน ต้นจะสูงประมาณ 2 เมตร หรือก่อนที่จะออกดอกเพศผู้ ช่วงนี้เส้นใยจะเหนียว เบา เยื่อสีขาว เหมาะสำหรับเป็นเส้นใยทอผ้า

การเก็บเกี่ยวตัดที่โคนต้นติดดิน หรือสูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ริดใบเฮมพ์ให้หมด เหลือลำต้นมัดรวมประมาณ 10 ต้น นำไปตากแดด หรือวางไว้ใต้ต้นไม้ ประมาณ 4-5 วัน จึงนำเข้าสู่กระบวนการลอกเปลือก หรือลอกเส้นใยนำไปแปรรูปใช้ประโยชน์ต่อไป