ครม.ปลดล็อคจ่ายเงินเด็กแรกเกิดนอกระบบประกันสังคม 3,770 ราย

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบรายงานผลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปี 2559 โดยมีการลงทะเบียนเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดยมีผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 371,657 คน คิดเป็นร้อยละ 184.83 จากเป้าหมาย 200,000 คน ซึ่งมีผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ 2559 ที่ได้รับ 282,987,600 บาท เบิกจ่ายจริง 277,924,600 บาท มีผู้มาลงทะเบียนและมีสิทธิ์ทั้งหมด 118,327 คน มีผู้ได้รับเงิน 90,261 คน

ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 ได้รับงบประมาณ 1,939,484,000 บาท เบิกจ่ายจริง 1,117,617,400 บาท มีผู้ลงทะเบียนและมีสิทธิ์ทั้งหมด 278,322 คน มีผู้ได้รับเงิน 228,122 คน

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดต้องเป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากการรับลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิ์มีผู้ได้รับสิทธิ์ประกันสังคม ส่งผลให้มีการระงับการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 3,770 คน
สำนักงานประกันสังคมชี้แจงว่า เงินสงเคราะห์บุตรมีหลักเกณฑ์การจ่ายให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 ปี และจะมีการตรวจสอบภายในระยะเวลา 3 ปี ว่าผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมครบ 12 เดือนหรือไม่ หากไม่ครบสำนักงานประกันสงคมจะตัดสิทธิ์

สำหรับผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพ สำนักงานประกันสังคมจะระงับการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร ซึ่งจะใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน 3 เดือน และผู้ยื่นคำขอเงินสงเคราะห์บุตรกับสำนักงานประกันสังคมสามารถยื่นคำขอภายใน 2 ปี จึงทำให้เกิดความล่าช้า