วัคซีนโปรตีนซับยูนิตคืออะไร ? ต่างจากชนิดอื่นอย่างไร ?

โนวาแวกซ์
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ชวนทำความรู้จัก วัคซีนโปรตีนซับยูนิต หลังองค์การเภสัชกรรมเผยว่า กำลังเจรจานำเข้าวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต เพื่อฉีดให้กับประชาชนในปี 2565

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (20 ก.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า องค์การเภสัชกรรม อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต คาดว่าจะนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชนได้ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 ครบทุกชนิด

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก วัคซีนโปรตีนซับยูนิต ว่าแตกต่างจากวัคซีนชนิดอื่นอย่างไร ? ดังนี้

วัคซีนโปรตีนซับยูนิตคืออะไร ?

ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลสินแพทย์ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 โดย แพทย์หญิงร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน แพทย์ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ กล่าวถึง วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต (subunit vaccine) ว่า เป็นวัคซีนที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีนของไวรัส วัคซีนชนิดนี้ใช้เทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส แล้วสกัดเอาส่วนโปรตีน ที่เป็นส่วนหนามมาทำเป็นวัคซีน

จากนั้นจึงฉีดเข้าร่างกาย ให้ร่างกายรู้จักกับหนามของไวรัสโดยตรง เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานาน และปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีนี้สำหรับวัคซีนชนิดต่าง ๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ส่วนวัคซีนโควิดที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือวัคซีนของบริษัทโนวาแวกซ์

ข้อแตกต่างระหว่างวัคซีนแต่ละชนิด

แพทย์หญิงร่มเย็นกล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ

1.วัคซีน mRNA เป็นเทคนิคใหม่ที่เลียนแบบสารพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เพิ่งมีใช้กันสำหรับโรคโควิด มีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา

2.วัคซีนที่นำสารพันธุกรรมของไวรัส ตัดต่อเข้ากับเชื้อไวรัส เรียกว่าอะดิโนไวรัส เพื่อที่จะพาสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์ เป็นเทคโนโลยีใหม่เช่นเดียวกัน เช่น แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และสปุตนิกวี ของรัสเซีย

3.วัคซีนชนิดที่ทำจากโปรตีนของเชื้อไวรัส หรือเรียกว่าโปรตีนซับยูนิตวัคซีน เช่น วัคซีนของบริษัท โนวาแวกซ์

4.วัคซีนที่ทำจากเชื้อตาย หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Inactivated Vaccine เช่น ยี่ห้อของบริษัท ซิโนแวค

แพทย์หญิงร่มเย็นกล่าวต่อว่า วัคซีนแต่ละชนิด มีจุดประสงค์หลักเหมือน ๆ กัน คือกระตุ้นให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ วัคซีนจะทำหน้าที่เสมือนเป็นเทรนเนอร์ เป็นคู่ซ้อม ทำให้ร่างกายรู้จักกับส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสเพื่อเตรียมพร้อมหากเจอสถานการณ์จริง จะสามารถต่อสู้ได้อย่างทันท่วงที แต่ว่าความแตกต่างของวัคซีนแต่ละชนิดคือ เทคนิคและกลไกที่ใช้การกระตุ้นร่างกาย

วัคซีนชนิดที่ 1 แบบ mRNA เป็นเทกนิคใหม่ที่เลียนแบบสารพันธุกรรม ส่วนเฉพาะของไวรัส เมื่อฉีดเข้าร่างกาย mRNA จะเข้าสู่เซลล์ กระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่คล้ายคลึงกับส่วนหนามของไวรัส ซึ่งส่วนหนามของไวรัสส่วนนี้จะใช้ไวรัสจะใช้จับเข้ากับเซลล์ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราฉีดวัคซีนเข้าไป mRNA ไปกระตุ้น ให้ร่างกายสร้างโปรตีนส่วนหนาม ทำให้เรารู้จักกับเชื้อไวรัสก่อน เมื่อเจอสถานการณ์จริงร่างกายจะสามารถ สร้างภูมิคุ้มกันออกมาเพื่อรับมือกับไวรัส ได้อย่างรวดเร็ว

แต่ข้อจำกัดของวัคซีนชนิดนี้ คือ สารพันธุกรรม mRNA นี้ เป็นสารพันธุกรรมที่เปราะบางมาก การผลิตจะต้องสร้าง ใช้นาโนเทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อให้มันคงตัวอยู่ได้ และจะต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก คือ -20-70 องศา

ชนิดที่สอง วัคซีนไวรัลเวกเตอร์ วัคซีนนี้ใช้เทคโนโลยีสร้างสารพันธุกรรม DNA แล้วนำไปตัดต่อเข้ากับเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ใช้กันส่วนใหญ่คือ อะดิโนไวรัส เราจะนำ DNA นี้ ตัดต่อเข้าไปกับตัวไวรัส แล้วทำเป็นวัคซีนฉีดเข้าไปในร่างกายของเรา เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเปลี่ยนจาก DNA เป็น RNA ชั้นที่หนึ่ง หลังจากนั้นเปลี่ยนจาก RNA เป็นโปรตีน ที่ตรงกับชนิดหนามของไวรัส และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อหนามของเชื้อไวรัสอีกทีหนึ่ง

กลไกนี้คล้ายกับวัคซีน mRNA แต่การใช้ DNA ตัดต่อกับไวรัสโดยตรง แล้วนำเข้าไปฉีดให้ร่างกาย จะเลียนแบบการติดเชื้อโดยตรงโดยธรรมชาติ สารพันธุกรรมนี้สามารถคงตัวอยู่ได้ดีกว่าในอุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา

ชนิดที่สาม วัคซีนโปรตีนซับยูนิต หรือ Subunit Vaccine วัคซีนชนิดนี้ใช้เทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส แล้วสกัดเอาส่วนโปรตีนที่เป็นส่วนหนามมาทำเป็นวัคซีน แล้วฉีดให้ร่างกายเรา ให้ร่างกายเรารู้จักกับหนามของไวรัสโดยตรง เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานาน และเป็นเทคโนโลยีที่ปัจจุบันก็มีการใช้เทคโนโลยีนี้ สำหรับวัคซีนชนิดต่าง ๆ อย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือ ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ตัวที่มีใช้ในตอนนี้ทั่วโลกคือ วัคซีนของบริษัท โนวาแวกซ์

ชนิดที่สี่ คือ วัคซีนเชื้อตาย หรือ Inactivated Vaccine วัคซีนชนิดนี้ใช้เทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส แล้วมาทำให้เชื้อไวรัสนั้นหยุดการเจริญเติบโต หรือทำให้ตาย แล้วนำเอาเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว มาทำเป็นวัคซีนฉีดเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เรารู้จักกับเชื้อไวรัสทั้งตัว กระตุ้นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น ๆ เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมาเนิ่นนาน เช่น ในการทำวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ โปลิโอวัคซีน เป็นต้น รวมถึงปัจจุบันได้ใช้เทคโนโลยีนี้มาทำวัคซีนโควิด-19 เช่น วัคซีนของบริษัท ซิโนแวกซ์ เป็นต้น

ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิด

แพทย์หญิงร่มเย็นเปิดเผยว่า สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิด ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบ วัคซีนแต่ละชนิดแบบตัวต่อตัว หรือเทียบกันในสถานการณ์เดียวกัน ในกลุ่มประชากรเดียวกัน จึงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า วัคซีนตัวไหนดีกว่า หรือด้อยกว่ากันอย่างชัดเจน

ตัวเลขประสิทธิภาพที่เราเห็นกันอยู่ หรือว่าได้ยินกันทั่วไป อย่างเช่นประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคที่สามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 50-70% หรือแอสตร้าเซนเนก้าที่สามารถป้องกันได้ 70-80% ตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้มาจากการทดลองเฉพาะวัคซีนนั้น ๆ ในกลุ่มประชากรควบคุม โดยเทียบกับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ของวัคซีนชนิดนั้น ๆ อย่างเดียว

เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่า วัคซีนซิโนแวค หรือว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีตัวเลขไม่เท่ากันนั้น ตัวไหนดีกว่ากัน หรือด้อยกว่ากันอย่างชัดเจน จนกว่าจะมีการทำการศึกษาที่เปรียบเทียบวัคซีน 2 ชนิด ในสถานการณ์เดียวกัน ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน และในกลุ่มประชากรเดียวกัน

จุฬาฯผุด วัคซีนใบยา วัคซีนซับยูนิตของไทย

วานนี้ (20 ก.ค.) 2 นักวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า อยู่ในระหว่างการวิจัย “วัคซีนใบยา” ที่ผลิตจากใบพืช ผลงานสตาร์ตอัพ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (ภายใต้ CU Enterprise)

“วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดซับยูนิตวัคซีน (subunit vaccine) ซึ่งต่างประเทศมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มานานแล้ว โดยผลิตจากหลายแหล่ง เช่น พืช แมลง ฯลฯ ขณะที่หลายประเทศผลิต ซับยูนิตวัคซีนจากใบพืช เช่น แคนาดา และเกาหลีใต้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ กล่าว

ในเดือน ส.ค.จะเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนกลุ่มแรกจำนวน 50 คน อายุ 18-60 ปี โดยอาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน การทดสอบจะเริ่มในเดือน ก.ย. อาสาสมัครจะได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ เมื่อทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกเสร็จ จะทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60-75 ปี ต่อไป และคาดว่าวัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300-500 บาท