
กระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงการต่างประเทศ เตรียมเสนอครม. ซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากสหภาพยุโรป เดือนละ 2 ล้านโดส 4 เดือน ในราคาที่อาจจะสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่เคยซื้อ
วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 13/2564 ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 มีการเสนอเรื่อง การจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อจากสภาพยุโรป
- ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.หย่าภรรยามาแล้ว 5 ปี มีทรัพย์สินลดลง 31 ล้าน
- คนละครึ่งเฟส5 รับ 800 บาท ลงทะเบียน ยืนยันสิทธิวันไหน ช่องทางใด
- ระเบิดเวลาลูกใหม่
ระบุความเป็นมาว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศ รับทราบข้อมูลว่า สหภาพยุโรปมีวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท AstraZeneca และบริษัท Pfizer/BioNTech ที่สามารถขายต่อให้ประเทศไทย
การซื้อขายต้องผ่านคณะกรรมการอำนวยการ (Steering committee) ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะประสานกับประเทศสมาชิกที่พร้อมขายวัคซีนให้ไทย โดยวัคซีนจะถูกจัดส่งตรงจากบริษัทผู้ผลิต ไม่ใช่การส่งวัคซีนที่มีอยู่แล้วในประเทศสมาชิก
สำหรับราคาขายและการส่งระบุว่า ราคาขายเป็นราคาที่ผู้ผลิตวัคซีนได้ตกลงทำสัญญาไว้กับสหภาพยุโรป โดยไม่คิดกำไรใด ๆ แต่ราคาอาจจะสูงกว่าราคาวัคซีนที่ประเทศกำลังพัฒนาเคยซื้อ
- วัคซีน AstraZeneca ราคาต่อโดส ไม่เกิน $5 จำนวน 2 ล้านโดสต่อเดือน (ก.ย.-ธ.ค.64 เป็นเวลา 4 เดือน)
- วัคซีน Pfizer/BioNTech ราคาต่อโดส 16 Euro (ประมาณ $18) จำนวน 2.5-3 ล้านโดสต่อเดือน (ก.ย.-ธ.ค.64 เป็นเวลา 4 เดือน)
ทั้งนี้ ผ่านการเห็นชอบจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ กับผู้แทนสหภาพยุโรปนำเข้า ศบค. และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
เบื้องต้นได้มีการเห็นชอบเรื่อง การจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อจากสหภาพยุโรป ได้แก่ วัคซีน AstraZeneca จำนวน 2 ล้านโดสต่อเดือน (ก.ย.-ธ.ค. 64 เป็นเวลา 4 เดือน)
ทั้งนี้ ได้มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการจัดซื้อและกรอบวงเงินต่อไป