ศบค.เบรก “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” จับตา กินเจ-เกษียณ แพร่โควิด

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค.จับตาเทศกาลกินเจ เกษียณอายุ รับตำแหน่งใหม่ หวั่นแพร่โควิด ขอให้งดจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ เตรียมแจ้งมาตรการคุมเข้มผ่านผู้ว่าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เผยเปิดพื้นที่ “กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” 15 ต.ค. ยังไม่ใช่มติของศบค. ต้องส่งแผนมาให้ สธ.พิจารณาก่อน พบหลายจังหวัดยังจัดงานเลี้ยง ตั้งวงกินเหล้า สังสรรค์ในสถานที่ราชการ

วันที่ 17 กันยายน 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันว่า ประเด็นที่ ศบค.กำลังมีความเป็นห่วงในช่วงนี้ เนื่องจากเร็ว ๆ นี้จะมีงานเทศกาลสำคัญอยู่ 2-3 งาน

หวั่นจัดงานกินเจ-เกษียณ แพร่โควิด

งานแรกคือ “เทศกาลกินเจ” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคม นี้ และมีหลายพื้นที่ที่มีการจัดเทศกาลกินเจ ตอนนี้กำลังมีการเตรียมการจัดงาน ซึ่ง ศบค.มีความเข้าใจเพราะเป็นเรื่องของการสืบสานประเพณี เป็นงานบุญที่มีความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่ หรือแม้แต่ประชาชนต่างพื้นที่ก็อาจมีการเดินทางข้ามพื้นที่เพื่อไปร่วมกิจกรรม

ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วง และมีการหารือกันในวันนี้ (17 ก.ย.) โดยขอให้พื้นที่ที่กำลังจะจัดงาน ฟังมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการแจ้งไปยังทุกจังหวัด ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด รวมถึงทุก ๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง

“ขอให้กำกับติดตามมาตรการ ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดของมาตรการที่ต้องปฏิบัติตามมา ซึ่งจะเป็นมาตรการตามวิถีใหม่ที่จะต้องขอความร่วมมือและปฏิบัติร่วมกัน” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

แนะจัดพิธีกรรมได้ แต่ควรงดงานเลี้ยงสังารรค์

นอกจากเทศกาลกินเจแล้ว ยังมีงานแสดงมุทิตาจิตสำหรับผู้ที่จะเกษีญณอายุราชการในเดือนกันยายน นี้ รวมถึงการแสดงความยินดีสำหรับคนที่เลื่อนรับตำแหน่งใหม่ โดยเฉพาะในส่วนงานราชการที่อาจมีการจัดงานแสดงความยินดี มีการรวมกลุ่ม ซึ่งอาจจะมีทั้งผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้มีโรคประจำตัว ซึ่ง ศบค.ก็เข้าใจถึงการจัดงานและความสำคัญดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ศบค.ก็ฝากเน้นย้ำในมาตรการของทางสาธารณสุข ให้จัดพิธีกรรมได้ โดยสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัส เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นไปได้ขอให้ไม่มีงานเลี้ยงสังสรรค์ ไม่มีการรับประทานอาหารที่ทำให้ทุกคนต้องเปิดหน้ากากอนามัย

“อาจทำให้มีความขัดข้องช่วงหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ เราคงสามารถที่จะขยายเรื่องของการผ่อนคลายได้มากขึ้น และที่ ผอ.ศบค.(นายกรัฐมนตรี) เน้นย้ำคือหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นตัวอย่าง ต้องมีมาตรการที่เข้มแข็ง เข้มงวด เป็นต้นแบบ และจะทำให้ภาคเอกชนได้ร่วมไม้ร่วมมือกันตามมา ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนทุกคนปลอดภัยไปด้วยกัน” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

เปิด”กทม.แซนด์บ็อกซ์” 15 ต.ค. ยังไม่ใช่มติศบค.

ต่อข้อคำถามถึงความชัดเจนของการเปิดพื้นที่นำร่องในการเปิดพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วยในเดือนตุลาคมนี้ว่า มีความชัดเจนอย่างไร

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวชี้แจงว่า เมื่อวานนี้ (16 ก.ย.) มีการรายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้หารือร่วมกับ กทม.และมีการเสนอแผนว่า จะมีการจัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว “กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์” เรื่องนี้ ศบค.ชุดเล็กได้รับทราบ แต่ต้องเรียนว่ายังไม่ถือว่าเป็นมติที่อนุมัติในเรื่องของ กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์ 15 ตุลาคม 2564 นี้

เพราะการเสนอแผนจะต้องทำเป็นขั้นตอน มีการหารือพื้นที่ มีการหารือร่วมกัน และจำเป็นจะต้องเสนอผ่านกระทรวงสาธารณสุขให้มีการตรวจสอบในเรื่องมาตรการอย่างรอบคอบ ปราณีต รัดกุม เพราะกทม.เป็นพื้นที่ใหญ่มีความหลากหลาย จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด และเมื่อสาธารณสุขได้พิจาณาแล้วจะมีการหารือร่วมกับศปก.ศบค. หรือศบค.ชุดเล็ก และต้องมีการเสนอผ่านการอนุมัติจากศบค.ชุดใหญ่ด้วย

ยอดป่วยหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจลดลงต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดประจำวันวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน14,555คน จำแนกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ (walk-in) 12,600 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,156คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 790 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 9 คน รวมผู้ป่วยสะสม 1,448,792คน และวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 171 ราย

ส่วนคนป่วยหายป่วยกลับบ้านมีจำนวน 13,691 คน หายป่วยสะสม 1,304,466 คน (ตั้งแต่ 1 เมษายน)
ผู้ป่วยกำลังรักษา 129,421 คน ในจำนวนนี้อยู่ในรพ. 44,439 คน อยู่ในรพ.สนามและอื่น ๆ จำนวน 84,982 ราย มีอาการหนัก 3,851 คน และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจจำนวน 787 คน ซึ่งในสองส่วนนี้ตัวเลขตั้งแต่ 1-17 กันยายนที่ผ่านมา ลดลงอย่างต่อเนื่อง (ตามกราฟ)

สำหรับผู้ขอรับการฉีดวัคซีนล่าสุดมีจำนวน 41.88 ล้านโดส โดยเข็มที่ 1 มีจำนวนสะสม 27.76 ล้านโดส เพิ่มขึ้น 228,352 โดส ครอบคลุมประชากร 38.55% (เป้าหมาย50%) ส่วนเข็ม 2 ครอบคลุมประชากรเพียง 18.41%

สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ ได้แก่ กทม. 2,911 ราย ซึ่งลดจากระดับ 3 พันรายก่อนหน้า รองลงมาเป็นสมุทรปราการ 1,110 ราย ชลบุรี 935 ราย ระยอง 636 ราย ราชบุรี 501 ราย ยะลา 444 ราย สมุทรสาคร 387 ราย ปราจีนบุรี 367 ราย นครศรีธรรมราช 354 ราย สระบุรี 329 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิตในวันนี้ 171 ราย เป็นชาย 82 ราย หญิง 89 ราย อยู่ในกทม.มากที่สุด 41 ราย รองลงมาก็เป็นจังหวัดในปริมณพล ได้แก่ สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี รวม 36 คน ที่เหลือกระจายไปในหลายจังหวัด (ดูกราฟิกท้ายข่าว)

ขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 125 ราย คิดเป็น 73% และผู้มีอายุน้อยกว่า 60 ปี และมีโรคเรื้อรังจำนวน 38 ราย คิดเป็นสัดส่วน 22% และวันนี้มีผู้เสียชีวิตระหว่างนำส่งรพ. 1 ราย อยู่ จ.ตาก

“สิ่งที่น่าสนใจคือกรมควบคุมโรครายงานผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ติดอยู่ในกลุ่มจังหวัดท็อป 10 แต่มีลักษณะ ไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อคล้าย ๆ กัน เช่น ที่เชียงใหม่มีการติดเชื้อพบในกลุ่มจัดงานเลี้ยง วงเหล้า รวมถึงการสังสรรค์ในสถานที่ราชการ เช่น สำนักงานการไฟฟ้าฯ

ที่ศรีสะเกษมีวงดื่มน้ำกระท่อม มีการจัดเลี้ยง รวมกลุ่ม ประจวบคีรีขันธ์ เป็นคลัสเตอร์โรงเรียนนายสิบมีผลบวกไป 62 ราย และที่ชลบุรีมี 2 คลัสเตอร์ เป็นศูนย์ฝึกทหารใหม่ และรวมทั้งกำลังพลในเรือ ที่เพชรบุรี สระบุรี เป็นแคมป์ก่อสร้าง จันทบุรี เป็นคลัสเตอร์ตลาด” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้ทุกท่านได้เห็นว่า แม้จังหวัดเหล่านี้ไม่ได้อยู่ใน 29 จังหวัดกลุ่มสีแดงเข้ม แต่เราต้องจับตาเฝ้าระวัง เพราะการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะคนใกล้ชิด คนคุ้นเคย มีการเลี้ยงสังสรรค์ พบปะกัน มีการรับประทานอาหารร่วมกัน มีการเปิดหน้ากากอนามัยถือว่ามีความเสี่ยง

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการหารือกัน โดยเน้นย้ำไปที่โรงเรียนประจำด้วย รวมถึงโรงเรียนทหารที่มีศูนย์ฝึก หน่วยฝึกต่าง ๆ ที่มีการกินนอนในโรงเรียนประจำด้วย โดยขอให้กวดขันมาตการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด