ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล คุณชายนักพัฒนา ผู้ปิดทองหลังพระให้บริบูรณ์

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล

คุณชายดิศนัดดา ดิศกุล ราชนิกุลนักพัฒนา บุคคลที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงวางพระราชหฤทัย ให้ทอดตัวปฏิบัติหน้าที่ถวายงานตามพระราชดำริ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ตลอด 5 ทศวรรษ

ประวัติ-สาแหรกแห่งราชสกุล

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ซึ่งเป็นโอรสในหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล และหม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ย่างเข้าสู่วัย 83 ปี ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่ รพ.ศิริราช

“คุณชายดิศ” หรือ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ และได้เข้ารับใช้เบื้องพระยุคลบาท ในฐานะ “ราชเลขานุการ” ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ต่อจากบิดา คือ หม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล ตั้งแต่ปี 2510

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นโอรสในหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล และหม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล (พระนามลำลองว่า “ท่านหญิงหลุยส์”) เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2482 คุณชายดิศ มีศักดิ์เป็นหลานปู่-ย่า ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมเฉื่อย ดิศกุล ณ อยุธยา และมีศักดิ์เป็นหลานตา-ยายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ และหม่อมหวน จักรพันธุ์ ณ อยุธยา

มีพี่น้อง 3 คน ได้แก่

1.หม่อมราชวงศ์รัศมี ดิศกุล
2.หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล
3.หม่อมราชวงศ์ราษี ดิศกุล

จบการศึกษาปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ จาก Indiana University (Bloomington) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเข้ารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนที่จะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีใน พ.ศ. 2510 และสนองพระราชดำริด้านการพัฒนาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตลอดพระชนม์ชีพ

นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประจำปี 2558-2559

สมรสกับคุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา โดยมีบุตรชาย 2 คน คือ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ม.ล.ศานติดิศ ดิศกุล 

คุณชายนักพัฒนา

ในบทความเรื่อง ‘“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” 4 ทศวรรษ แก้จนสไตล์คุณชายชายขอบ “ไม่ใช่ทำแบบอำมาตย์ ต้องทำแบบไพร่” เมื่อปี 2558 เล่าถึงชีวิตการงานของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ไว้ว่า ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล อยู่กลางดิน กินกลางภูเขา ตั้งสำนักงานอยู่ชายป่ามานานกว่า 40 ปี ในพื้นที่ทรงงานตามโครงการพระราชดำริ ทั้งโครงการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และโครงการปิดทองหลังพระ

เพื่อนร่วมงานของ “คุณชายดิศ” มีทั้งปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการเกษตร ไปจนถึงชาวเขาหลากเผ่าพันธุ์ ทุกคนก่อนจะได้เริ่มงานต้องปฏิบัติการ “ขุดดิน คำนวณน้ำ ฝึกปลูกพืช” และที่สำคัญ ต้องผ่านการอบรมการเข้ามวลชนอย่างน้อย 2 เดือน

“คนจนเขาไม่มีโอกาส ไม่มีทางเลือกที่ดี ต้องบุกรุกป่า บางครอบครัวต้องค้าประเวณี เพราะเขาไม่มีโอกาส แต่ผมนะ ยินดีจะกราบไหว้พวกค้าประเวณีเพราะยากจน ไม่มีจะกิน แต่จะไม่ไหว้พวกฉ้อราษฎร์บังหลวง”

“ผมอยากให้ชาวบ้านที่ยากจน ไม่มีโอกาส ได้อยู่รอด ไม่อดข้าว มีกินตลอดปี ไม่มีหนี้สิน อยู่อย่างพอเพียง เหมือนอย่างที่ในหลวงเคยตรัสว่า เมื่อมีผลกระทบจากข้างนอก พวกเขาต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้ และคิดเป็น แก้ปัญหาตัวเองเป็น มีความสุขตามอัตภาพ อย่างยั่งยืน…วันหนึ่งเมื่อไม่มีใครช่วย ไม่มีโครงการปิดทองหลังพระ พวกเขาก็อยู่กันเองได้ ไม่เดือดร้อน” ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าว

ขณะที่ในฐานะราชเลขานุการ “สมเด็จย่า” คุณชายดิสเล่าเรื่องพระจริยวัตรระหว่าง “ในหลวงรัชกาลที่ 9″ กับ สมเด็จย่าและสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ในบทความเรื่อง “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล สืบพระราชปณิธานปิดทองหลังพระ ฝ่าทุนนิยมศตวรรษที่ 21” เมื่อปี 2559 เกี่ยวกับการถ่ายทอด-เรียนรู้ศาสตร์ของ “สมเด็จย่า” สู่ “ศาสตร์ของพระราชา” ไว้ว่า “สมเด็จย่า ทรงเรียนรู้จากพระสวามี คือ พระบรมราชชนก โดยเฉพาะความเป็นนักจดจำ”

“ศาสตร์ของพระราชา ทำให้คนมีพลังมากขึ้นทั้งประเทศ ทำให้มีการสืบสานพระราชดำริเพิ่มขึ้น แต่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดการ Action ให้ได้ ให้เกิดการร่วมมือ จับมือกันทำ ทั้งประชาชน ข้าราชการ และรัฐบาล มาทำงานด้วยกัน”

เป้าหมายของคุณชายดิศนัดดา คือ ให้นานาชาติรู้จัก “ศาสตร์พระราชา”

“ให้นานาชาติรู้จักประเทศไทย ในฐานะผู้ให้กู้ แต่ไม่ใช่การกู้เงินสด แต่เป็นการปล่อยกู้ความรู้จากพระราชา จึงจะสำเร็จในการปฏิบัติตามพระราชดำรัส”

ส่วนในฐานะ “(อดีต) เลขาธิการ” มูลนิธิปิดทองหลังพระ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ม.ร.ว.ดิศนัดดา น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะที่เป็นองค์สัญลักษณ์ของผู้นำ “ที่พาทำ นำพาพสกนิกร ร่วมคิด ร่วมทำ”

โดยภารกิจของคุณชายดิศนัดดา ผู้ปิดทองหลังพระ น้อมนำพระราชดำรัส ไปสู่การปฏิบัติของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ในช่วง 5 ปีแรก ได้ทำงานใน 5 จังหวัด คือ น่าน อุดรธานี อุทัยธานี เพชรบุรี และกาฬสินธุ์ เพื่อให้ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ เป็นจุดเชื่อมให้ฝ่ายต่าง ๆ เช่น ข้าราชการ มาร่วมกันทำงานพัฒนา ตามหลักการทำงานของแม่ฟ้าหลวง หรือศาสตร์ของสมเด็จย่า และศาสตร์ของพระราชา”

จากนั้นนำเอาวิชาของ “แม่ฟ้าหลวง” ไปเผยแพร่ และทำงานพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งตลอด 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา “คุณชายดิศ” มีความมุ่งมั่นทำงานพัฒนาด้วยรากฐานความคิดนำศาสตร์ของพระราชาไปประยุกต์ในพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่องเดียวกันว่า

“ปิดทองหลังพระ ทำงานพัฒนาที่จังหวัดน่าน 12 ปี ดอยตุงยั่งยืนได้ 30 ปี เชื่อว่าจังหวัดชายแดนใต้ น่าจะพัฒนาให้ยั่งยืนได้ราว 12 ปีเช่นกัน หากภาครัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมคิดร่วมทำ บูรณาการจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง เชื่อว่าการช่วยเกษตรกรชาวสวนลองกองที่นำร่องไปแล้วจะสำเร็จ เราอยากเรียกว่าแนวทางเกษตรประณีต”

คุณชายดิศเป็นนักพัฒนา ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว เปลี่ยนองค์กรฝ่าวิกฤตทุกมิติ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน และระดับประเทศ

เป็นภารกิจชีวิต 4 แผ่นดิน ของคุณชายดิศ เกาะติดอยู่กับการเสาะหาความแร้นแค้นของผู้คน เพื่อมอบกุญแจชีวิตใหม่ ไขให้พ้นจากความยากลำบาก อย่างยั่งยืน

ตั้งปณิธาน ตามรอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เคยพระราชทานพระบรมราโชวาท การปิดทองหลังพระ ไว้องก์หนึ่งว่า…

“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้” (พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506)

ในช่วงทศวรรษสุดท้ายแห่งชีวิต คุณชายดิศให้ความสำคัญกับการพบปะสนทนากับคนรุ่นใหม่ มีความปรารถนา ความหวัง ความฝัน ที่จะสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดกับคนหัวคิดทันสมัยทุกวงการ