สถานบันเทิงปรับเป็นร้านอาหาร ดื่มเหล้าได้ ต้องทำอย่างไร

ร้านอาหาร

ธุรกิจ “สถานบันเทิง” อีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมาก จากคำสั่งปิดให้บริการตามระดับพื้นที่สีควบคุมโรค

วันที่ 20 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุม ศบค. เตรียมอนุญาตให้สถานบันเทิงกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 16 มกราคม 2565 แต่เนื่องจากช่วงการเฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับเกิดการระบาดโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังปีใหม่ ศบค. จึงมีคำสั่งห้ามสถานบันเทิงปิดบริการออกไปอย่างไม่มีกำหนด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสถานบันเทิง โดยเปิดโอกาสให้สามารถปรับรูปแบบสถานที่มาเป็นร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง และสามารถนั่งดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ต้องเป็นร้านที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น และต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด

สำหรับสถานบันเทิงที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง ภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปรายละเอียดและการดำเนินการไว้ให้ ดังนี้

สถานบันเทิง ปรับเป็นร้านอาหาร ต้องทำอย่างไร

สถานบันเทิง หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ต้องการจะปรับการให้บริการเป็นลักษณะของร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องทำแผนขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันและควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ ดังนี้

  • จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำร้าน
  • จัดพื้นที่รับประทานอาหาร โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด และจัดที่นั่งไม่นั่งตรงข้ามกัน และปฏิบัติตามมาตรการของพื้นที่
  • มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และโต๊ะรับประทานอาหาร 1 – 2 เมตร สำหรับพื้นที่มีเครื่องปรับอากาศเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะรับประทานอาหาร 2 เมตร ในพื้นที่รับประทานอาหารที่มีพื้นที่จำกัด ระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น โดยฉากกั้นต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการระบายอากาศ
  • จำกัดระยะเวลาการนั่งรับประทานอาหาร ไม่เกิน 2 ชั่วโมง หรือปฏิบัติตามมาตรการของพื้นที่
  • พนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงด้วย Thai Save Thai (TST) หรือ แอปพลิเคชั่นที่ทางราชการกำหนด ทุกวัน
  • พนักงานทุกคนตรวจโควิด-19 ด้วย ATK ทุก 7 วัน หรือตรวจ ATK เมื่อคัดกรองผ่าน TST แล้วมีความเสี่ยงสูง
  • ไม่มีกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด การรวมกลุ่มการเต้นรำ การตะโกนเสียงดัง

ร้านอาหารผ่านการประเมินมาตรการคุมโควิดแล้วกี่แห่ง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขผลการประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting (ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64-17 ม.ค.65 มีร้านอาหารที่เข้าประเมินทั้งสิ้น 22,780 แห่ง โดยมีร้านที่ผ่านการประเมินแล้ว 22,064 แห่ง และไม่ผ่าน 806 แห่ง

ด้านแพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล (ศบค.) กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงสถานการณ์โควิดประจำวัน (19 ม.ค.65) ระบุว่า

ข้อมูลนำเข้าของกระทรวงสาธารณสุข มีรายงานของสถานบันเทิง ร้านอาหาร มีหลายจังหวัด เช่น นนทบุรี เพชรบุรี อุบลราชธานี และจากการลงพื้นที่สำรวจโดยละเอียดพบว่า มีสถานบันเทิง 21 แห่ง ที่พบการติดเชื้อและมีการรายงานไปที่กระทรวงสาธารณสุข

ในจำนวนดังกล่าว มี 7 ร้านด้วยกันที่เป็นสถานบันเทิงที่เปิดโดยมี COVID Free Setting ผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้ว แต่ว่ามีการย่อหย่อนมาตรการ ไม่มีการติดตามอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขึ้น

นอกจากนี้ยังมีอีก 14 ร้าน เปิดโดยไม่มีการขออนุญาต เช่นที่เชียงใหม่ ขอนแก่น พะเยา ชลบุรี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อุดรธานี มหาสารคาม หรือถือได้ว่าเป็นการเปิดโดยน่าจะผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ทำในเรื่องของมาตรการ covid free setting

“บางร้านไม่สามารถแสดงการฉีดวัคซีนของพนักงานได้เลย รวมทั้งไม่ได้มีการตรวจ ATK พนักงานทุก ๆ 7 วันอย่างที่สาธารณสุขกำหนด และมีบางร้านพนักงานมีความเสี่ยงสูงก็ยังมาปฏิบัติงาน มาที่ทำงาน มาที่ร้าน และสิ่งสำคัญมีเกือบทุกร้านเลยคือ ไม่มีผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับคนที่จะดูแลเรื่องการเฝ้าระวังการติดเชื้อในร้าน คือไม่มีเจ้าภาพนั่นเอง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

เปิดตัวเลข สถานบันเทิง ใน กทม. ขอปรับเป็นร้านอาหาร

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย สถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการที่เปลี่ยนแปลงเป็นร้านอาหารที่สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ม.ค.65) จากการสำรวจสถานบริการทั้งหมด 819 แห่ง มีรายละเอียดการขออนุญาต ดังนี้

  • ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงเป็นร้านอาหาร 413 แห่ง
  • มี SHA+ 198 แห่ง
  • ไม่มี SHA+ 215 แห่ง
  • ดำเนินการตามมาตรการ THAI STOP COVID 2Plus จำนวน 304 แห่ง
  • อยู่ระหว่างแนะนำให้ทำการประเมิน 109 แห่ง

ศบค.ปรับมาตรการ สถานบันเทิง ขอเป็นร้านอาหาร

เดิมที ศบค. ได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารได้ตามมาตรการที่กำหนด และให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 มกราคม 2565 เพื่อให้สอดรับกับกำหนดการเปิดสถานบันเทิงในวันที่ 16 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

แต่ทั้งนี้ ด้วยการเลื่อนการเปิดสถานบันเทิงอย่างไม่มีกำหนดแล้ว ศบค. จึงได้ปรับมาตรการให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด และขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. ได้เมื่อมีความพร้อม โดยไม่กำหนดระยะเวลา

มาตรการสถานบันเทิง