กัญชามีกี่สายพันธุ์ ออกฤทธิ์แตกต่างกันหรือไม่ มีสรรพคุณอะไรบ้าง

กัญชา
Photo by Mark Stebnicki

พืช “กัญชา” ดูจะเป็นที่รอคอยของใครหลายคน เพราะทันทีที่ประเทศไทยปลดล็อกให้กัญชาพ้นจากยาเสพติด ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เปิดระบบออนไลน์ให้ประชาชนที่ต้องการปลูก สามารถลงทะเบียนจดแจ้งข้อมูล ได้มีผู้จดแจ้งวันแรก (9 มิ.ย.) พุ่งทะลุกว่าแสนราย

คนที่เพิ่งเข้าวงการสายเขียว อาจต้องศึกษาข้อมูลก่อนปลูก เพราะจริง ๆ แล้ว กัญชามีหลายสายพันธุ์ รวมถึงรูปลักษณะของต้น ใบ และการนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านรู้จักกับกัญชา 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa) สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica) และสายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis)

สายพันธุ์ซาติวา

เริ่มที่สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa) มีลักษณะลำต้นที่หนา ความสูงเมื่อเติบโตเต็มที่ประมาณ 6 เมตร ใบยาว เรียว สีเขียวอ่อน ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 9-16 สัปดาห์ เป็นสายพันธุ์ที่ชอบแดดและอากาศร้อน

ซาติวามีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท (Psychoactive) สูงกว่าอินดิกา

กัญชาซาติวา (Cannabis sativa)
PHOTO : NickyPe from Pixabay

สายพันธุ์อินดิกา

สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica) มีลักษณะลำต้นพุ่มเตี้ย ความสูงเมื่อเติบโตเต็มที่ประมาณ 180 เซนติเมตร ใบกว้าง สั้น สีเขียวเข้ม กิ่งก้านดกหนา ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 6-8 สัปดาห์ เป็นสายพันธุ์ชอบที่ร่มและอากาศเย็น

อินดิกามีสาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งออกฤทธิ์ระงับประสาท (Sedative) ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการปวดเรื้อรัง

กัญชาอินดิกา
PHOTO : David Cardinez from Pixabay

สายพันธุ์รูเดอราลิส

สายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis) มีมีลักษณะลำต้นเตี้ยที่สุดในบรรดา 3 สายพันธุ์ ดูคล้ายวัชพืช ใบกว้างมี 3 แฉก เติบโตเร็ว อยู่ได้ทั้งอากาศร้อนและเย็น

รูเดอราลิสปริมาณสาร THC น้อย (เมื่อเทียบกับสองสายพันธุ์แรก) แต่มี CBD สูง มักนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ (hybrid) กับซาติวาและอินดิกา เพื่อให้ได้คุณสมบัติทางยา

กัญชาสายพันธุ์รูเดอราลิส
PHOTO : Kindel Media from pixel

สาร THC และ CBD คืออะไร

สำหรับสาร CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดการชักเกร็ง ช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย และมีคุณสมบัติยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง

ส่วนสาร THC มีผลต่อจิต ประสาท ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นให้อยากอาหาร

กัญชา มีสรรพคุณอะไรบ้าง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ดร.ภญ.ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชาในการรักษาอาการและโรคต่าง ๆ ประกอบด้วย

1. ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด

2. เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์

3. ลดอาการปวด

4. ลดอาการปลอกประสาทเสื่อม

5. ช่วยควบคุมอาการลมชัก

6. ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน

7. ป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ

8. คลายความวิตกกังวล

9. การรักษามะเร็ง

อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกพืชกัญชาไว้ในครัวเรือนเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ยังไม่ได้เปิดเสรี 100% ส่วนหากเป็นการจำหน่ายจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด