ทำไมควรถ่ายซีเกมส์

File Photo by Ye Aung THU / AFP
คอลัมน์ : คุยกับเอกราช
ผู้เขียน : เอกราช เก่งทุกทาง

ซีเกมส์ที่กัมพูชา คือ ซีเกมส์ครั้งที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด “ชวนทะเลาะ” เยอะสุด ตั้งแต่แข่งกันมา

คนไทยส่วนหนึ่งกับคนกัมพูชาส่วนหนึ่ง แทบจะมองหน้ากันไม่ติด

ความขัดแย้งไล่มาตั้งแต่เรื่องกุนขแมร์กับมวยไทย หลังสุดมีปัญหาตรงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ซึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าภาพชาติแรกที่ตั้งราคาขายแทนระบบคิดค่าธรรมเนียมแบบเก่า แถมขายไทยแพงสุดถึง 28 ล้านบาท

เกินงบฯที่เราตั้งไว้เยอะ ชาวบ้านก็รับไม่ได้ ชาวโซเชียลถึงขั้นเปิดแคมเปญ ต่อต้านการซื้อลิขสิทธิ์ซีเกมส์กัมพูชา แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของกฎ MUST HAVE ต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวี

แต่ในความรู้สึก คือ ถ้าขายแพงเว่อร์ก็ไม่ต้องไปซื้อ เราไม่ดูก็ได้ (วะ)

กระแสโซเชียลไปทางนั้น สื่อไทยบางส่วนก็เริ่มเดินตาม

แต่เรื่องนี้ต้องแยกแยะ มีเหตุผลและมองภาพรวมเป็นหลัก

เรื่องขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ความจริงคือทุกชาติอาเซียนเห็นชอบร่วมกันว่า “ต้องขาย” ตั้งแต่ตอนประชุมกันเมื่อปลายปีที่แล้ว กัมพูชาประเดิมขายชาติแรก เจ้าภาพครั้งต่อ ๆ ไปก็จะขายหมด เพื่อลดต้นทุนของการจัดงาน

ประเทศไทยส่ง คุณชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ไปร่วมประชุมที่พนมเปญ เรารับรู้ตั้งนานแล้ว แต่การนำเสนอของสื่อบางรายกลับคลาดเคลื่อน ตกใจว่าจู่ ๆ กัมพูชามาตั้งราคาขายลิขสิทธิ์ได้ยังไง ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยมี

คนที่รู้เรื่องก็ไม่ออกมาชี้แจง ปล่อยให้ชาวบ้านด่ากันไปเรื่อย

ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องมีการขายลิขสิทธิ์ แต่เป็นเรื่องราคา

กัมพูชาขายไทย 28 ล้านบาท แพงสุดในอาเซียน อ้างว่าดูจากมูลค่าการตลาด

ตัวเลขนี้แพงเว่อร์ ไม่สมควรเป็นราคาระดับอาเซียน ถึงจะเป็นแค่ราคาเริ่มต้น ซื้อขายกันจริงย่อมมีการต่อรอง สุดท้ายอาจเหลือไม่ถึง 20 ล้าน แต่พอออกตัวแรงตั้งแต่แรก มันก็กลายเป็นล่อเป้า โดนโจมตีอย่างช่วยไม่ได้

ตอนนี้ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเจรจาตกลงตัวเลขที่เหมาะสม มีแววว่าน่าจะโอเคกันได้ และนั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ซีเกมส์อาจจะถูกมองว่าเป็นงานบ้าน ๆ เจ้าภาพชอบอัดกีฬาพื้นบ้านเพื่อเพิ่มเหรียญทอง ภาพของทัวร์นาเมนต์ไม่หรู ติดโหล บางคนไม่อยากดูเพราะรู้สึกว่ามาตรฐานต่ำบ้าง เบื่อกลโกงบ้าง

แต่ถ้าถอยออกจากมุมมืด มองไปอีกทาง มันก็มีมุมสว่างเป็นข้อดีอยู่เหมือนกัน

ซีเกมส์เปรียบเหมือนเวทีแรก เป็นงานแจ้งเกิดของว่าที่ซูเปอร์สตาร์แห่งอนาคต นักกีฬาไทยระดับตำนาน หรือตัวเก่ง ๆ หลายคนก็เริ่มเปิดตัวจากรายการนี้แหละ

ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เกิดจากซีเกมส์ที่สิงคโปร์ 1993 โก้อายุแค่ 20 เป็นตัวสำรองลงไปโหม่งประตูชัยให้ทีมไทยเฉือนพม่า 4-3 คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ

เมย์ รัชนก อินทนนท์ เล่นซีเกมส์ครั้งแรกปี 2011 สร้างชื่อด้วยการได้แชมป์ทีมหญิง ขณะที่ น้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ก่อนจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ก็เริ่มไต่เต้าจากซีเกมส์ครั้งที่ 27 ที่เมียนมา ปีนั้นน้องได้เหรียญเงิน แพ้เจ้าภาพแบบค้านสายตา แต่การแพ้แบบชนะใจก็ทำให้คนไทยจำเธอได้ เอาใจช่วยเธอ จนกระทั่งกลายมาเป็นน้องเทนนิส ฮีโร่ของชาติในวันนี้

ซีเกมส์จึงมีคุณค่าเสมอ โดยเฉพาะกับนักกีฬาดาวรุ่งคนรุ่นใหม่ที่ต้องการโอกาส พิสูจน์ตัวเองโดยเพื่อนร่วมชาติ มีโอกาสได้เห็น มีโอกาสได้เชียร์

อีกอย่างที่ผมสนับสนุนให้ถ่ายซีเกมส์ คือ ยุคนี้รายการกีฬาทางฟรีทีวีมันเหลือน้อยเต็มที ถ้าซีเกมส์มีข้ออ้างไม่ถ่าย ต่อไปก็อาจจะปล่อยไหล ไม่ถ่ายเอเชียนเกมส์ ไม่ถ่ายโอลิมปิก ด้วยเหตุผลว่า ราคามันแพง ไม่มีเงินซื้อ ซื้อไปก็ไม่คุ้ม สุดท้ายกีฬาก็สูญพันธุ์ไปจากฟรีทีวีไทย

อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ คนทำงาน (ฟรี) ทีวีบ้านเรา บางคนเขาไม่เอากีฬาจริง ๆ นะครับ

เพราะงั้น, ถ้ามันมีช่องทางจะถ่ายได้ เจรจาได้ ก็ทำเถอะ ช่วยกันรักษาไว้ ก่อนจะไม่มีกีฬาให้ดูฟรีอีกต่อไป