อนุกรรมการ กสทช. ชงยกเลิกกฎ Must Have รอรับ ซีเกมส์-เอเชียนเกมส์

กสทช.

วงในถก เตรียมชงบอร์ด กสทช. ยกเลิกกฏ Must Have เหตุบิดเบือนกลไกตลาด ส่งผลต่อการถ่ายทอดสด 7 รายการกีฬา หลังฟุตบอลโลก 2022 ป่วนค่าลิขสิทธิ์

วันที่ 16 มีนาคม 2566 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า อาจมีการชง บอร์ด กสทช. ให้ยกเลิกกฎ Must Have เนื่อจากอาจจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

กฎดังกล่าวมีขึ้นเเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป

โดยให้ 7 รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้น ดังนี้

1.การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)

2.การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games)

3.การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games)

4.การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)

5.การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)

6.การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games)

7.การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games)

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธาน มีแนวคิดจะยกเลิกประกาศ Must Have ทั้งฉบับ โดยมีเหตุผลว่า เพื่อป้องกันการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาว่า  กฏดังกล่าวอาจจะเป็นปัจจัยทำให้มีการเพิ่มค่าลิขสิทธิ์สำหรับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

“โดยปกติแล้ว ผู้ขายลิขสิทธิ์รายการกีฬามักมีข้อกำหนดให้ผู้รับสิทธิถ่ายทอดนำไปออกทางฟรีทีวีด้วยอยู่แล้วเพื่อเพิ่มยอดผู้ชม จึงสมควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องมีการนำเสนอที่ประชุมบอร์ดให้รับในหลักการ แล้วจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งจะดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป” แหล่งข่าวระบุ

ก่อนหน้านี้ การบังคับใช้กฎ Must Have ส่งผลต่อภาคเอกชนอย่างมาก ในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในปี 2014 ต่อมาในฟุตบอลโลก ปี 2018 และ 2022 เอกชนหลายรายไม่กล้าขอซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

ทำให้ปีที่ผ่านมา การกีฬาแห่งประเทศไทยได้ขอสนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกสูงถึง 1,200 ล้านบาท จาก กสทช. 600 ล้านบาท และจากภาคเอกชนอีก 600 ล้านบาท โดยอ้างว่ากฎ Must Have บังคับให้ต้องมีการถ่ายทอดสดกีฬาดังกล่าวอย่างเสมอภาคตาม และกฏ Must carry ที่บังคับให้ถ่ายทอดทุกแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม ช่วงการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เมื่อปีที่ผ่านมา สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ให้บริการฟรีทีวีจำนวนมากในเนื่องการจัดแบ่งตารางเวลา ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสมในการใช้เงินของ กสทช. อย่างกว้างขวาง

ล่าสุด มหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2023 ใกล้เข้ามา ซึ่งผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า ค่ายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดซีเกมส์แพงกว่าเดิม 10% และในอีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2023 ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ

สองมหกรรมกีฬานี้เป็นมหกรรมที่มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมคับคั่ง และยังอยู่ในกีฬาบังคับถ่ายทอดสดตามกฎ Must Have อีกด้วย

ดังนั้น แม้สองกีฬาดังกล่าวอาจไม่ได้มีค่าลิขสิทธิ์สูงเท่าฟุตบอลโลก แต่การยกเลิกกฏ Must Have จะส่งผลให้กีฬาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องถูกบังคับให้จัดหามา “ฉายฟรี” อย่างทั่วถึงแก่ประชาชน เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป