ฟุตบอลโลก 2022 อดีตกรรมการ กสทช. ชำแหละ 10 ปัญหาถ่ายทอดสด

ฟุตบอลโลก

อดีตกรรมการ กสทช. เปิด 10 ข้อ สะท้อนปัญหาถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ได้เขียนบทความแจกแจงปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) โดยระบุว่า ปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดฟุตบอลโลก ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างการกีฬาแห่งประเทศไทย และ กสทช. มีดังนี้

1. กสทช. มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดย กกท. และ สำนักงาน กสทช. ได้ทำบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและคนด้อยโอกาสสามารถรับชมการถ่ายทอดสด และเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. สามารถถ่ายทอดสดได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้ประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดย กกท. ตกลงยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตได้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงโดยให้มีการออกอากาศผ่านผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช.

2. หาก กกท. ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงได้ สำนักงาน กสทช. สงวนสิทธิในการยกเลิกการสนับสนุนหรือเรียกคืนเงินที่ได้สนับสนุนไปแล้ว โดย กกท. ต้องคืนเงินใน 15 วัน

3. กกท. ได้จัดทำบันทีกข้อตกลงกับเอกชน เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 เนื้อหาของบันทึกข้อตกลงเป็นความลับ แต่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนว่า กกท. รับรองกับเอกชนว่า กสทช. ได้แจ้งมิให้ผู้รับใบอนุญาตเผยแพร่การแข่งขันผ่านระบบ IPTV ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ OTT แล้ว และ กกท. รับรองว่าจะดำเนินการไม่ให้มีการนำสัญญาณไปออกอากาศในช่องทางดังกล่าว

4. ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของเอกชนที่ให้การสนับสนุนรายนี้ กกท. ตกลงที่จะคืนเงินทั้งหมดทันที

5. แต่ปรากฏหลักฐานตามหนังสือที่ กกท. แจ้งเอกชนเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2565 ว่า กกท. ได้หารือเรื่องการปิดสัญญาณการถ่ายทอดผ่านระบบ IPTV ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ OTT กับสำนักงาน กสทช. แล้ว และสำนักงาน กสทช. มีหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันทำบันทึกข้อตกลงกับเอกชนซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 แต่ทำไมในบันทึกข้อตกลงกับเอกชนกลับอ้างว่า กสทช. ได้แจ้งมิให้มีการเผยแพร่การแข่งขันผ่านระบบต่างๆ แล้ว อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่ กกท. แจ้งเอกชน มีการระบุว่า หากบันทึกข้อตกลงกับเอกชน ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย หลักเกณฑ์และบันทึกข้อตกลงกับ สำนักงาน กสทช. กกท. ก็ไม่อาจดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงกับเอกชนได้

6. ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 มีความเห็นว่า กรณีการแจ้งผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เผยแพร่รายการของกิจการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (Must Carry) ไม่รวมถึง IPTV เป็นการขัดต่อประกาศที่ต้องการให้ออกอากาศผ่านทุกช่องทาง

7. สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้ง กกท. เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ว่า ตามบันทึกข้อตกลงที่ กกท. ทำกับสำนักงาน กสทช. มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาชนทั่วไปและคนด้อยโอกาสสามารถรับชมการถ่ายทอดสด และเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. สามารถถ่ายทอดสดได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้ประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน กกท. ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขและปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลง รวมทั้งต้องดำเนินการให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกสามารถออกอากาศการถ่ายทอดสดตามหลัก Must Carry ได้โดยทันทีนับแต่วันรับหนังสือนี้ หากไม่สามารถแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องได้ กกท. มีหน้าที่ต้องคืนเงินสนับสนุน

8. ความสับสนเกิดจากการที่ กกท. อ้างคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาว่าเกิดจากการใช้สิทธิของเอกชนผู้รับสิทธิ เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงกับ สำนักงาน กสทช. แต่อย่างใด

9. แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ประเด็นคำถามสำคัญคือ การยกสิทธิให้เอกชนตามบันทีกข้อตกลงกับ กกท. นั้น เป็นเหตุให้การดำเนินการขัดกับวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงกับ สำนักงาน กสทช. หรือไม่ หากขัดกับวัตถุประสงค์ของบันทีกข้อตกลงจริง สำนักงาน กสทช. ก็มีสิทธิเรียกเงินสนับสนุนคืน และ กกท . ก็มีหน้าที่ต้องคืนเงินใน 15 วัน โดยไม่เกี่ยวกับคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาแต่อย่างใด

10. หาก กกท. ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงและไม่คืนเงิน เป็นไปได้ว่าอาจจะมีฟ้องคดีตามมา และการขอรับการสนับสนุนการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น กีฬาโอลิมปิกส์ กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ คงเป็นสิ่งที่ กสทช. สมควรจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงความสามารถในการปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้ขอรับการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย