ลด ละ เลิก อาหารสุกดิบ เพื่อสุขภาพดี ห่างไกลโรค

อาหารคือ 1 ในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย หากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปไม่ปลอดภัย จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค ปัจจุบัน การเจ็บป่วยจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะนับเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

ที่ผ่านมามีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการรับประทานเนื้อหมูที่ไม่สุก หรือสุกๆดิบๆ ส่งผลให้เกิดโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส หรือไข้หูดับ ซึ่งมักจะเห็นข่าวลักษณะนี้ทุกปี อีกเมนูสุดฮิตคือกุ้งแช่น้ำปลา ซึ่งบางร้านอาหารใช้กุ้งน้ำจืดจึงมีความเสี่ยงทำให้เกิดพยาธิปอดหนูได้ และยังมีโรคอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอหิวาตกโรค โรคบิด อาหารเป็นพิษ โรคตับอักเสบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสต่างๆที่อาจปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสด ซึ่งเราสามารถตัดวงจรการเกิดโรคได้ด้วยการเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดวัตถุดิบและปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง แต่โดยส่วนใหญ่หลายคนมักละเลยในประเด็นนี้ จึงทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต

ดังนั้น เพื่อสุขอนามัยที่ดี จึงมีแนวทางที่ผู้บริโภคสามารถปฏิบัติตามหลักการสู่อาหารปลอดภัย 5 ประการ (The Five Keys to Safer Food) ขององค์การอนามัยโลก (The World Health Organization : WHO) มีรายละเอียด ดังนี้ 

1) การรักษาความสะอาด โดยการล้างมือสม่ำเสมอ ทั้งก่อน-หลังปรุงอาหาร รับประทานอาหาร รวมถึงหยิบจับสิ่งต่างๆ

2) แยกอาหารที่ปรุงสุกกับอาหารสด เช่น แยกเนื้อสดจากอาหารประเภทอื่น แยกอุปกรณ์ภาชนะในการประกอบอาหาร ไม่เก็บอาหารปรุงสุกและอาหารสดรวมกัน 

3) ปรุงอาหารให้สุกในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาที โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไข่และอาหารทะเล เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคต่างๆ 

4) เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น อาหารที่ปรุงแล้วและอาหารที่เน่าเสียเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส อุ่นอาหารทุกครั้งก่อนรับประทาน ไม่เก็บอาหารไว้นานเกินไป และไม่ควรละลายอาหารแช่แข็งในอุณหภูมิห้อง 

5) ใช้น้ำและวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดเชื้อในการปรุงอาหาร รวมถึงล้างผักและผลไม้เพื่อให้มั่นใจว่าปราศจากสารพิษ

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคควรตระหนักว่าความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องเริ่มจากตัวเรา ต้องใส่ใจเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนซื้อ ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ ผู้ขาย ต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน การผลิตซึ่งต้องเป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

ผศ.ดร.ศศิธร ใบผ่อง 

หัวหน้าศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร 


คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่