เปลี่ยน ตึก-เมือง ให้สมาร์ท DTX แก้ปัญหาด้วย Digital Twin

ผศ.ดร.พร วิรุฬรักษ์

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของอุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ การประมวลผลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ผลักดัน “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” ในทุกอุตสาหกรรม แม้แต่สิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้อย่าง อาคาร บ้าน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็ไม่เว้น

และเป็นโจทย์สำคัญของเจ้าของหรือผู้ที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ ซึ่งจะยิ่งยากขึ้นไปอีก ถ้าเป็น “เมือง” ที่มีความซับซ้อนของทั้งผู้คน และสิ่งปลูกสร้าง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ผศ.ดร.พร วิรุฬรักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี ที เอ็กซ์ จำกัด (DTX) บริษัทร่วมทุนระหว่างทีมกรุ๊ป (TEAMG) และ DITTO เพื่อให้บริการระบบบริหารจัดการอาคาร และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมถึง “เมือง” ด้วยเทคโนโลยี digital twin

“ดร.พร” อธิบายว่า digital twin เป็นแบบจำลองที่สะท้อนสถานะความเป็นจริงของวัตถุทางกายภาพ ณ เวลานั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ (digital) เสมือนคู่แฝด ที่คนหนึ่งอยู่ในโลกกายภาพ อีกคนอยู่ในโลกคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงรายละเอียด และคุณสมบัติต่าง ๆ เทียบเท่าวัตถุจริง ให้ข้อมูล real time นำไปพัฒนา ปรับปรุงระบบการทำงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยในการตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

“เป็นการนำกายภาพของวัตถุ เช่น ข้อมูลของอาคารสูงขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม ข้อมูลการก่อสร้าง ระบบน้ำ ระบบไฟ รวมถึงข้อมูลของเมือง ที่ปกติจะบันทึกอยู่ในพิมพ์เขียวมาอยู่ในแพลตฟอร์มที่เป็น digital ดูได้ real time 24 ชั่วโมง ผู้บริหารอาคาร หรือนิคมอุตสาหกรรม

อยากเห็นปริมาณการใช้ไฟฟ้า ปริมาณน้ำท่วมหลังฝนตกลงมา ตรงไหนท่วม ตรงไหนไม่ท่วมได้ทันทีจะได้แจ้งเตือน หรือแม้แต่ผู้ว่าฯ ของเมืองก็ต้องเข้าถึง CCTV ดูความปลอดภัย ดูการจราจร ดูสิ่งแวดล้อม หรืออุปกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำ ไฟถนน หรือสังเกตการใช้พลังงาน digital twin ส่งสัญญาณมาโดยตรงทำให้ข้อมูลที่ได้รับถูกต้องแม่นยำโปร่งใส”

ที่มาที่ไปของ DTX

“ดร.พร” กล่าวถึงภูมิหลังของตนว่าเคยเป็นอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม มีโอกาสร่วมงานกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งในไทย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งลักษณะงานสถาปนิกยุคใหม่จะอยู่กับการทำ BIM (building information modeling) หรือแบบจำลองเสมือนของอาคารก่อนการก่อสร้างทำให้มองเห็นว่าข้อมูลการออกแบบ BIM เป็น “คลื่นลูกที่สอง” ของวงการก่อสร้างจึงตัดสินใจออกมาเปิดบริษัทตนเอง เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทำงานด้านนี้โดยเฉพาะจนจำลองแบบก่อสร้างเป็น 3 มิติ พร้อมข้อมูลต่าง ๆ ได้

“ช่วงโควิด เกิดการตื่นตัวเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ทั้งอุปกรณ์ และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์, IOT มีความพร้อม แต่ขาด คน โดยเฉพาะงานบริหารอาคารที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เราจึงกลับมาคิดโซลูชั่นที่ทำให้ BIM เข้าไปอยู่ในขั้นตอนการ operate อาคารให้ได้ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับผู้บริหาร จึงต้องมีบริษัทซอฟต์แวร์จัดหาโซลูชั่น asset activator

ทำให้การบริหารจัดการอาคารเป็นดิจิทัล และได้มาเจอกับผู้บริหารทีมกรุ๊ป TEAMG ซึ่งเป็นคนในแวดวงก่อสร้างเหมือนกันที่กำลังจะร่วมมือกับ DITTO ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ก็เลยนำ asset activator ที่พัฒนาขึ้นมาอยู่กับที่นี่ เกิดเป็นบริษัทใหม่ DTX ซึ่งเป็นส่วนผสมของ DITTO และ TEAMG”

ย้ำไม่ใช่สตาร์ตอัพ

การร่วมทุนระหว่าง DITTO และ TEAMG ใน DTX ทำให้มีการหาลูกค้าผ่านพันธมิตรและใช้ทรัพยากรระหว่างกันได้ “ดร.พร” บอกว่า DTX จึงไม่ใช่บริษัทสตาร์ตอัพ แต่เป็นบริษัทที่พร้อมรับงานจากองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีสินทรัพย์มากและต้องการทำกำไรทันที

“สตาร์ตอัพเป็นวิธีทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้าไปแบบหนึ่ง ซึ่งมีหลายแบบมาก คุณสนใจหานักลงทุน เพราะจะดำน้ำลึกมากจนกระทั่งสักวันมันจะฟู่ขึ้นมา แต่มีวันนั้นรึเปล่าไม่รู้นะ ฉะนั้นสตาร์ตอัพเป็นเกมซูเปอร์ไฮโรลเลอร์เป็นเกมที่ความเสี่ยงสูงมาก ยังไม่พูดถึงเทคโนโลยีนะ แต่เผอิญว่าคนที่จะกระโดดขึ้นน้ำ วิ่งไปอวกาศได้ ไม่ค่อยมีขายผักขายปลา ทำการเกษตร หรือก่อสร้าง แต่คือเทคโนโลยีทั้งนั้น

ดังนั้นโดยออโตเมติก คนก็เลยผูกคำว่าสตาร์ตอัพเทคโนโลยีเข้าหากัน นั่นคือสาเหตุที่ผมต้อง defend ทุกคนว่า DTX หรือแม้กระทั่ง asset activator ไม่ใช่สตาร์ตอัพเราไม่เคยคิดแบบสตาร์ตอัพเลย เราไม่สนใจหานักลงทุน ไม่มีซีรีส์อะไรทั้งสิ้น เราคิดว่าจะทำเงินเดี๋ยวนี้ มีกำไรเดี๋ยวนี้ ไม่ได้คาดหวังว่าจะดำน้ำลึกแล้วจะกลายเป็นแวลูพุ่งไปเป็นยูนิคอร์น เราทำธุรกิจเซอร์วิสปกติ แต่มีเทคโนโลยีเป็น core”

และคำว่า service คือการแก้ปัญหาให้ลูกค้า

“วันแรกที่ทำเอา BIM มาขาย ขายไม่ได้ งั้นไปเอาซอฟต์แวร์มาขาย แต่ลูกค้าบอกต้องเอา BIM เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่พอต้องไปเอา IOT มาด้วย ต้องติดตั้งด้วย เราทำตามลูปความต้องการของลูกค้า ซึ่งคือธุรกิจธรรมดา เราขายบริการ เราบริหารต้นทุน เป็นธุรกิจแบบดั้งเดิมทุกอย่าง”

ปัญหาที่เข้าไปแก้ให้ลูกค้า

“ดร.พร” กล่าวว่า ปัญหาที่เป็นอยู่ปัจจุบัน คือ 1.เรื่องบุคลากร 2. ระบบบริหารอาคารที่ไม่คุยกัน

“เรื่องบุคลากร มีสองแกนหลัก ๆ คือ เกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพ ปริมาณคือประเทศเราเข้าสู่ยุคที่ประชากรลดลง ดังนั้นการหาคนจะเริ่มยากขึ้น โดยเฉพาะคนทำงานที่เป็นงานหนัก งานปฏิบัติการที่ต้องออกไปหน้างาน

จะสังเกตว่าในโลกของแรงงานที่ใช้แรงงานหนัก ไม่ค่อยเป็นคนไทยในประเทศ ถึงจุดหนึ่งงานบริหารสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ต้องออกไปข้างนอก คนก็ไม่ค่อยอยากทำ สอง เรื่องคุณภาพ โจทย์ที่ทุกคนจะเจอในการบริหารอาคารเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นมาก อาคารสมัยก่อนเป็นอาคารที่แค่ทำความสะอาดเปิดปิดไฟก็อยู่ได้แล้ว ต่อมามีปั๊มน้ำ มีไฟฟ้า มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ยากขึ้น และวันนี้อาคารเริ่มกลายเป็นคอมพิวเตอร์ชั้นสูงด้วย”

ปัญหาที่สอง คือ ระบบที่ไม่คุยกัน เนื่องจากข้อแรก การที่อาคารกำลังกลายเป็นคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่คนงานเดิมไม่เก่ง แต่โจทย์ยากขึ้น เจ้าหน้าที่อาคารที่เคยปิดไฟต้องมาจัดการอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้บริหารนำมาติดตั้งบนอาคาร และต่างคนต่างมีสมาร์ทดีไวซ์มากมาย เป็นคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ระดับง่าย

“ระบบต่าง ๆ เช่น โซลาร์ เมื่อซื้อมาแพง จะใช้หรือบริหารจัดการระบบแบบเดิมไม่ได้ และในที่สุดคุณจะรู้ว่าอุปกรณ์ไฮเทคทุกอย่างจะเก่าเร็วมาก คนขายของไปแล้ว เหมือนซื้อของที่ใช้ยากมากแล้วนึกว่าชีวิตจะดี ปรากฏว่าใช้จริงไม่รู้เรื่อง เพราะช่างอาคารเหมือนเดิม คุณไม่เคยเทรนเขา ความยากของงานแก้ปัญหาข้อที่สอง คือการบูรณาการระบบ ทำให้ดูได้ โดยไม่ต้องสนว่าระบบจะมาจากไหน จะเป็นไอโอทีเจ้าไหนก็ได้”

โฟกัสลูกค้ารายใหญ่

“ดร.พร” กล่าวว่า ลูกค้าของ DTX คือองค์กรใหญ่ที่มีสินทรัพย์เยอะมากแล้วเอาไม่อยู่ และอยู่มานาน คือ ซื้อของมาติดตั้งเสร็จแล้วเริ่มงงว่าต้องทำอย่างไรต่อ เช่น องค์กรที่ตึกเป็นร้อยแห่ง มีโรงงานเป็นร้อย และอายุเยอะ

สิ่งที่ลูกค้าจะได้ คือ 1.ไม่มีปัญหาเรื่องคน เพราะการบริหารจัดการดาต้าจะวิ่งเข้ามาโดยตรง 2.มีดาต้าเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่มาเป็นเรียลไทม์แล้วเอาไปจัดการอะไรก็ได้ 3.การลงทุนทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่ทำให้การเชื่อมโยงกัน

“เรื่องคน เรื่องดาต้า และการเชื่อมโยงบูรณาการเทคโนโลยี คือความแข็งแกร่งของเรา เชื่อว่ามีบริษัทน้อยมากที่ทำได้ทั้ง 3 เรื่องนี้ เช่น คุณมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่บริหารมา 30 ปี ไม่มีความเป็นดิจิทัลใด ๆ ทุกอย่างเป็นมิเตอร์แอนะล็อกต้องเดินไปจด เราทำให้นิคมเป็นดิจิทัลขึ้นมาได้ ดาต้าจะวิ่งเข้าไปในระบบ ERP การบริหารองค์กรโดยอัตโนมัติ”