กสทช. พิรงรอง แจงเหตุยกเลิกกฎ Must Have

ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต

พิรงรอง แจงที่มากฎ must have เกิดจากบริบททีวีในอดีต การยกเลิกจะช่วยราคาลิขสิทธิ์ 7 ชนิดกีฬาสะท้อนกลไกตลาดของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ปัจจุบัน ตอบสนองความต้องการหรือพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ในปัจจุบันได้ตรงตามบริบทแวดล้อม

วันที่ 25 มีนาคม 2566 ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการที่บอร์ด กสทช. เห็นชอบยกเลิกกฎ Must Have และอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ว่า

เมื่อ 23 มี.ค. 2566 กสทช. มีประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 7/2566 และบอร์ดมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือประกาศ Must Have

โดยสาระสำคัญ ประกาศ Must Have กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิในการออกอากาศรายการกีฬา 7 ประเภท คือ

(1) การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีเกมส์
(2) การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์
(3) การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีเอเชีย หรือเอเชียนเกมส์
(4) การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการเอเชียนพาราเกมส์
(5) การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
(6) การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการหลายประเภทจากทั่วโลก หรือกีฬาพาราลิมปิก
(7) การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

ต้องนำทั้ง 7 รายการมาเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันคือ ทีวีดิจิตอลเป็นลำดับแรก และมีผลต่อเนื่องทำให้ทั้ง 7 รายการถูกนำสัญญาณออกอากาศผ่านระบบดาวเทียม เคเบิล และ IPTV ภายใต้กฎ Must Carry ด้วย

กฎ Must Have ถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบทแวดล้อมของกิจการโทรทัศน์ที่แตกต่างจากในปัจจุบันอย่างมาก (ก่อนมีทีวีดิจิทัล) เพราะในปี 2555 ช่องทางในการรับชมบริการโทรทัศน์ของประชาชนยังมีจำกัด ขณะที่ในปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลายจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ที่ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต โดยสามารถเข้าถึงผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือประจำที่ก็ได้

เหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนมีพฤติกรรมในการรับชมรายการโทรทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีการรับชมทาง IPTV และ OTT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมักจะเป็นการบริโภคเนื้อหาในลักษณะ non-linear หรือ on demand กล่าวคือไม่เป็นไปตามผังรายการแต่เป็นตามเวลาที่ผู้ใช้สื่อสะดวก ซึ่งก็จะเป็นเนื้อหาประเภทบันเทิงอย่างซีรี่ส์ หรือภาพยนตร์เป็นหลัก

ในบริบทของ digital disruption ดังกล่าว เนื้อหาแบบ linear ที่ยังจำเป็นต้องดูสด หรือในเวลาจริงเพื่อให้เกิดอรรถรสในการรับชมจะเหลืออยู่ไม่กี่ประเภท และหนึ่งในนั้นคือรายการกีฬาที่ผู้บริโภคให้ความนิยมในการรับชมอย่างแพร่หลายมาตลอด โดยเฉพาะกีฬาในระดับโลกอย่างฟุตบอลโลก โอลิมปิก หรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เป็นต้น

การขายลิขสิทธิ์การแพร่ภาพและสิทธิด้านเนื้อหา (Broadcasting rights) ได้กลายเป็นกระแสรายได้หลักในธุรกิจกีฬาที่ได้รับประโยชน์จากเงินจำนวนมหาศาลที่ได้มาจากการขายสิทธิเหล่านี้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาของสิทธิในการแพร่ภาพรายการกีฬาระดับโลกได้เพิ่มขึ้นแบบเท่าทวีคูณ และกีฬาได้กลายมาเป็นประเภทของเนื้อหาการออกอากาศที่แพงที่สุด และเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อหาโทรทัศน์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในปัจจุบัน

ตัวอย่างที่ดีคือ การแข่งขันฟุตบอลโลกที่เพิ่งจบไปในช่วงปลายปี 2565 ที่ FIFA สร้างรายได้จากการขายสิทธิในการแพร่ภาพทั่วโลกในมูลค่า 2.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (100,980 ล้านบาท)

หรือกีฬาโอลิมปิกที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC สร้างรายได้จากการตลาดของลิขสิทธิ์การแพร่ภาพทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (105,400 ล้านบาท) สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว 2020

สิทธิการแพร่ภาพอาจเจรจาเป็นชุดเดียวครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มการแพร่ภาพสำหรับหนึ่งเขตแดน/ประเทศ (all rights) หรืออาจแบ่งตามประเภทของสิทธิ์และแพลตฟอร์มสื่อที่เกี่ยวข้อง เช่น สำหรับการออกอากาศทางโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือการแพร่ภาพทางมือถือหรือทางอินเทอร์เน็ต หรืออาจแบ่งแยกย่อยเป็น การถ่ายทอดสด, เว็บคาสติ้ง หรือการถ่ายทอดสดทางเว็บ, การออกอากาศ/สตรีมมิ่งแบบดีเลย์ และการรวบรวมไฮไลท์ของเกม

ถึงแม้ว่าจะมีการเจรจาซื้อสิทธิมาเป็นแพ็กเกจเดียว แต่ผู้ได้รับสิทธิมาก็สามารถให้สิทธิใช้งานช่วงกับผู้ประกอบการรายอื่น (sub-licensing) ได้อีก

การมีกฎ Must Have ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการแพร่ภาพผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดินหรือทีวีดิจิทัลก่อน และต้องมีการส่งสัญญาณต่อเนื่องไปยังทุกโครงข่ายโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ตามกฎ Must carry อาจส่งผลในลักษณะบิดเบือนกลไกตลาด เนื่องจากเปิดช่องทางให้เจ้าของลิขสิทธิ์กีฬาระดับโลกอาศัยการดำเนินการตามประกาศ Must Have กำหนดมูลค่าลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้น และไม่เปิดช่องให้มีการดีลธุรกิจแบบเลือกประเภทสิทธิได้ แต่ต้องซื้อแบบ all rights เท่านั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ

จากข้อมูลในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเศรษฐกิจ จำนวนประชากร หรือความนิยมในกีฬาในระดับใกล้เคียงกัน มูลค่าของสิทธิการแพร่ภาพที่ทางไทยต้องจ่ายมักจะสูงกว่าเสมอ ตัวอย่างเช่น ไทยจ่ายค่าสิทธิในการแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (64 นัด) ในมูลค่า 1,200 ล้านบาท

ขณะที่มาเลเซียเสียเงิน 32.5 ล้านริงกิต หรือประมาณ 261.50 ล้านบาทสำหรับ แพ็กเกจถ่ายทอดสด 27 นัด รวมนัดชิงชนะเลิศ และถ่ายทอดเทปบันทึกการแข่งขัน 14 นัดที่ผ่านมา กฎ Must Have เป็นการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ (กสทช.) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนได้เข้าถึงรายการกีฬายอดนิยมระดับโลก

ทว่าด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรมโทรทัศน์และสภาพของการหากำไรจากลิขสิทธิ์รายการกีฬาระดับโลกดังที่กล่าวไปแล้ว ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่า รายการกีฬาเป็นรายการที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่ม ซึ่งอาจไม่เข้าข่ายสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่ประชาชนจะได้รับชมฟรี

การยกเลิกกฎ must have น่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์มีการดำเนินการตามกลไกตลาดที่แท้จริง ทั้งตลาดโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (ฟรีทีวี) ตลาดโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และตลาดใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการหรือพฤติกรรมการรับชมบริการโทรทัศน์ในปัจจุบันได้อย่างตรงตามบริบทแวดล้อม

แม้ที่ผ่านมา คนไทยจะรับรู้ว่าการมีประกาศ Must Have ทำให้ผู้ประกอบการที่ประมูลทีวีดิจิทัลต้องยินยอมให้นำเอาสัญญาณรายการกีฬา 7 ประเภทดังกล่าวไปออกอากาศผ่านระบบอื่นได้ด้วย แต่ในความเป็นจริง เจ้าของลิขสิทธิ์กีฬาเหล่านี้ก็ได้กำหนดเงื่อนไขการเผยแพร่ออกอากาศกีฬาในรายการสำคัญผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดินหรือฟรีทีวีเพื่อให้ประชาชนได้รับชมอย่างทั่วถึงในสัดส่วนหนึ่งด้วยเช่นกันอยู่แล้ว

เช่น คณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC มีข้อกำหนดให้ต้องนำเนื้อหาการแข่งขันที่ได้รับสิทธิมาเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้มีการออกอากาศและขยายฐานการรับรู้ รับชม ของประชาชนในวงกว้าง

ขั้นตอนจากนี้สำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป เพื่อนำความเห็นที่ได้มาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศภายใน 30 วัน จึงขอเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมเสนอความคิดเห็นเพื่อให้ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน