กดปุ่ม “Prompt Post” พลิกโฉม “ไปรษณีย์ไทย”

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์

นั่งเก้าอี้แม่ทัพ “ไปรษณีย์ไทย” ครบ 2 ปีในเดือนพ.ค.นี้ “ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เดินหน้าปรับโฉมบริการต่อเนื่องด้วยแพลตฟอร์ม Prompt Post ในรูปแบบ ‘ตู้จดหมายดิจิทัล’ อีกหนึ่งจิ๊กซอว์สู่การเป็น “อินฟอร์เมชั่น โลจิสติกส์” ในอนาคต

“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้สร้างแพลตฟอร์มในการให้บริการรับส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร (Prompt Post) ในรูปแบบของ “ตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการ

“ตู้จดหมายปกติจะอยู่หน้าบ้าน เป็นที่รับจดหมายของทุกคนในบ้าน แต่ที่จริงเอกสารหรือจดหมายเป็นของใครของมัน ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การส่งจดหมายในอดีตเป็นกระดาษ หรือเป็นเอกสารก็เปลี่ยนมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ Prompt Post จึงเปลี่ยนตู้จดหมายหน้าบ้านเป็นดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ หรือตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล”

ในแง่การใช้งานจะมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชน แล้วส่งข้อมูลยืนยันไปที่กรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลนั้นมีตัวตนอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะใช้ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ Prompt Post ได้

“ลองจินตนาการว่า ในการใช้บริการไปรษณีย์ตามปกติไม่ว่าส่งจดหมายธรรมดา หรือจดหมายลงทะเบียน เมื่อเขียนเสร็จก็ต้องมีการเซ็นชื่อ เป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นอี-ซิกเนเจอร์ กำกับความถูกต้อง การันตีได้ว่าไม่มีการปลอมแปลง เวลาจดหมายส่งออกไปปลายทางจะมี e-Timestamping กำกับเวลาไว้ด้วย”

เวลาปิดซองยังมีตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-seal เหมือนจดหมายกระดาษทุกอย่าง แต่เป็น อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงตู้ไปรษณีย์
ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจก็จะเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลเมล์บ็อกซ์

“ดนันท์” ย้ำว่า Prompt Post เป็นแพลตฟอร์มระบบปิด คนที่จะเข้ามาเพื่อส่งอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือเอกชน ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน ต้องมีการ KYC ก่อนจึงรู้ตัวตนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งอำนวยความสะดวกได้มาก โดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องให้บริการสาธารณะ แต่เอาต์เล็ตมีไม่ทั่ว และต้องระวังเรื่อง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

“ต่อไปเอกสาร บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ สามารถแปลงมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเก็บไว้ในตู้เซฟหรือกล่องเมล์บ็อกซ์ได้”

เรียกได้ว่าเป็น “คลัง” เก็บเอกสารสำคัญต่าง ๆ ได้ เมื่อต้องส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก็หยิบจาก “เมล์บ็อกซ์” ส่งได้เลย หน่วยงานภาครัฐก็จะรับเอกสารเหล่านี้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กรณีพาสปอร์ตทำเอกสารและส่งเป็นดิจิทัลเมล์บ็อกซ์มาที่ไปรษณีย์เพื่อพรินต์หรือพิมพ์ออกมาใส่ซองส่งไปที่บ้าน “ผู้รับ” ได้ทันที เหมือนการส่งเล่มเอกสารแบบเดิม

“ฐานลูกค้าภาครัฐ คือคนทั่วประเทศ ไม่ว่าสรรพากร กรมการปกครอง หรือโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ผ่านมา เวลาไปหาหมอเสร็จก็จะขอใบรับรองแพทย์ หรือใบเสร็จไปเบิก หมอเขียนมาแต่อ่านไม่ออกก็มีแต่เมื่อเปลี่ยนเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จต่าง ๆ จะส่งผ่านระบบดิจิทัลเข้าไปที่เมล์บ็อกซ์ของลูกค้าที่มีเมล์บ็อกซ์ หรือกรณีสถานศึกษาส่งอี-ทรานสคริปต์ ก็ให้ทางมหาวิทยาลัยส่งมาในแพลตฟอร์มนี้ ก็จะส่งอี-ทรานสคริปต์ไปสมัครงานได้เลย ถ้าที่ทำงานนั้น ลงทะเบียนดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ไว้กับเรา”

ขณะนี้ไปรษณีย์ไทยมีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง เพื่อทดลองบริการร่วมกัน เพราะระบบต่าง ๆ พร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็น e-timestamp, e-signature หรือ e-seal คาดว่าภายในไตรมาส 3 ปีนี้จะเริ่มใช้ได้ทันที

“Prompt Post ที่นำร่องใช้ไปแล้ว ก็คือการพัฒนาโปสการ์ดแบบกระดาษเป็นโปสการ์ดออนไลน์ใช้แล้วในการทายผลฟุตบอลโลก ล่าสุดร่วมกับ ททท.ทำโปสการ์ดออนไลน์ที่ลูกค้าออกแบบได้เอง เช่น ไปเที่ยวภูเก็ตอยากส่งโปสการ์ดให้เพื่อน ก็ถ่ายรูปเลือกวิว เลือกกรอบเขียนข้อความเสร็จแล้วซับมิทส่งมาที่เรา สามารถพิมพ์เป็นโปสการ์ดได้เลย จะส่งเป็นกระดาษไปถึงบ้าน หรือจะส่งเป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้”

และว่าทุกวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ มีการส่งใบแจ้งหนี้ เช่น ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า ไปให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ โดยรับผิดชอบค่าส่งให้อยู่แล้ว เมื่อเปลี่ยนมาเป็น “ดิจิทัล” ก็ยังมีค่าใช้จ่าย แต่จะถูกลง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากเพราะไม่ต้องวุ่นวายกับเอกสารต่าง ๆ ทำให้มีเวลามากขึ้น ลดการใช้กระดาษ ลดการขนส่ง ช่วยให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

แม้จดหมายหรือเอกสารจะเปลี่ยนเป็นอิเล็กทรอนิกส์ แต่การเติบโตของอีคอมเมิร์ซทำให้บริการขนส่งยังเติบโต “ดนันท์” ย้ำว่านั่นทำให้บริษัทไม่ต้องลดจำนวนบุคลากร แต่เปลี่ยนหน้าที่มาส่งพัสดุเพิ่มขึ้น เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ รวมถึงแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต่อยอดจากจุดแข็งเดิม

“บุรุษไปรษณีย์ 20,000 คน ต่อไปงานเขาก็ไม่ได้น้อยลง เช่น ขยายไปทำธุรกิจค้าปลีกนั้น ด้วยการมีเน็ตเวิร์กครอบคลุม เช่น บ้านนี้เลี้ยงปลา บุรุษไปรษณีย์สามารถเสนอขายอาหารปลาราคาถูกกว่าซื้อในท้องตลาด หรือมีส่วนลดพิเศษให้ได้ หรือบริษัทรถเบนซ์ต้องการส่งแคมเปญให้ลูกค้า ก็ส่งให้ได้ทุกบ้านที่ใช้รถยี่ห้ออื่น ๆ เพราะเห็นหมดว่าบ้านไหนใช้รถอะไร”


สิ่งนี้เรียกว่า “อินฟอร์เมชั่น โลจิสติกส์” เป็น “ดาต้า” หรือข้อมูลที่เกิดจากการขนส่ง ซึ่ง “ดนันท์” มองว่าจะเป็นธุรกิจของไปรษณีย์ไทยในอนาคต