
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากสารพัดปัจจัย ทั้งวิกฤตโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสัญญาณการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ฯลฯ ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่บรรดาบิ๊กเทคที่เคยรุกคืบขยายการลงทุนอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต่างต้องหันกลับมาทบทวนตนเอง ปรับแผน เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ บ้างต้องรัดเข็มขัด และถึงขั้นเลย์ออฟพนักงานเป็นจำนวนมาก เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจเดินต่อได้
พร้อมกับเป้าหมายที่จะต้องพลิกฟื้นผลประกอบการจากที่เคย “ติดลบ” มาเป็น “กำไร” ให้ได้
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรีคนใหม่ มีผลทันที
- ผู้ซื้อญี่ปุ่นเซ็นแล้ว 5,000 ตัน นำเข้ากล้วยอีสาน ได้เม็ดเงินทันที 100 ล้านบาท
ทำให้ดีกรีการแข่งขันโดยเฉพาะในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซลดความร้อนแรงลงโดยลำดับ คูปองส่งฟรี และโปรโมชั่นต่าง ๆ เริ่มน้อยลง หรือถ้าจะยังมีให้เห็นก็ไม่ใช่การ “ซับซิไดซ์” หรือรับภาระโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม แต่มีการดึงให้ร้านค้าหรือเจ้าของแบรนด์สินค้ามาช่วยจ่ายเงินซื้อส่วนลดด้วย รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าคอมมิชชั่นที่เรียกเก็บกับร้านค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
เรียกได้ว่าเป็นการปรับโหมดเข้าสู่รูปแบบการทำกำไรเต็มรูปแบบ
“ช้อปปี้-ลาซาด้า” กอดคอกำไร
ในสมรภูมิธุรกิจอีคอมเมิร์ซ “ลาซาด้า” (Lazada) เป็นรายแรกที่เริ่มมีผลประกอบการเป็นบวกตั้งแต่ปี 2564
จากการตรวจสอบข้อมูลใน CredenData.co ผู้ให้บริการข้อมูลทางธุรกิจในประเทศไทยพบว่า ณ สิ้นปี 2564 บริษัท ลาซาด้า จำกัด มีรายได้รวมอยู่ที่ 14,675 ล้านบาท เป็นกำไรถึง 226 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ในปี 2563 ยังขาดทุนมากถึง 3,988 ล้านบาท แต่ในปีถัดมาก็สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ อัตราเติบโตทางกำไรจึงมากถึง 105.7% และในปี 2565 มีรายได้สูงถึง 20,675 ล้านบาท เป็นกำไร 413 ล้านบาท
ขณะที่ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2564 ยังคงขาดทุนมากถึง 4,972 ล้านบาท จากรายได้รวมที่ 13,322 ล้านบาท จนกระทั่งสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมาจึงสามารถพลิกผลประกอบการกลับมาทำกำไรได้ถึง 2,380 บาท ในแง่กำไรเติบโตถึง 147% จากรายได้รวมที่ 21,709 ล้านบาท
อีกธุรกิจของ “ช้อปปี้” ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ “ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส” โดยบริษัท เอสพีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ณ สิ้นปี 2565 มีรายได้อยู่ที่ 16,765 ล้านบาท เป็นกำไรถึง 932 ล้านบาท เติบโตกว่า 421% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้ 15,000 ล้านบาท และยังขาดทุน 289 ล้านบาท
กูรูอีคอมเมิร์ซอ่านเกมแข่งขัน
“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ ตลาดดอตคอม ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจอีคอมเมิร์ซ กล่าวว่า สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นไปตามที่ตนเคยคาดการณ์ไว้เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วว่าบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้จะเริ่มทำกำไร และเมื่อเริ่มทำกำไรแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลังจากนี้จะเป็นการบีบ และรีดเอารายได้ทั้งหมดเพื่อให้เติบโตทันกันไป
“สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องบอกเลยว่า ช้อปปี้เติบโตได้น่ากลัวมาก เรียกได้ว่าพวกเขาชนะแล้วในตลาดที่เป็นมาร์เก็ตเพลซของประเทศไทย อย่างแพลตฟอร์ม Tarad.com ของผมเองก็สู้ไม่ได้แล้ว หมดโอกาสตายเรียบ แต่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของไทยยังมีอีกเจ้าที่น่าจะพอสู้ได้ นั่นคือ 24 Shopping ของซีพี ออลล์ เพียงแต่เขาไม่ได้เป็นมาร์เก็ตเพลซแบบมีร้านค้าอื่น ๆ มาอยู่บนแพลตฟอร์ม แต่ทำเป็น online to offline ในระบบนิเวศร้านเซเว่นอีเลฟเว่น”
“แกร็บ” ตามรอย 2 ยักษ์
ไม่ใช่แต่ลาซาด้า และช้อปปี้ เท่านั้นที่เริ่มทำกำไรได้แล้ว ฝั่งแพลตฟอร์มออนไลน์ดีลิเวอรี่ “แกร็บ” (Grab) ก็ด้วยหลังจากเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทได้ประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะให้ความสำคัญกับการสร้างผลกำไรในการดำเนินธุรกิจ
โดยข้อมูลจาก CredenData.co ระบุว่า แกร็บเริ่มมีกำไรเป็นครั้งแรกหลังดำเนินธุรกิจในไทยครบรอบ 10 ปี โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนทำธุรกิจเรียกรถในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งที่ผ่านมาประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2562 ขาดทุนหนักถึง 1,650 ล้านบาท แม้ในปี 2564 จะมีรายได้รวม สูงถึง 11,357 ล้านบาท ก็ยังคงขาดทุนสุทธิถึง 325 ล้านบาท
จนสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา รายได้เติบโตจากปี 2564 ถึง 33.6% มาอยู่ที่ 15,197 ล้านบาท และพลิกกลับมาทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 576 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรเติบโตปีต่อปีสูงถึง 277.13% ถือเป็นปีแรกที่บริษัทสามารถพลิกผลประกอบการขาดทุนมาเป็นกำไรได้
สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ในกลุ่มแกร็บ เช่น บริษัท GFin Services ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2565 รายได้เติบโต 32.44% มาอยู่ที่ 997 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 81 ล้านบาท อีกบริษัท GPay Network ให้บริการระบบชำระเงินบนเครือข่าย G Wallet ของแกร็บ มีรายได้ 394 ล้านบาท ขาดทุน 4 ล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 3 บริษัทในกลุ่ม Grab พบว่ามีรายได้ อยู่ที่ 16,589 ล้านบาท เป็นกำไรรวมกัน 652 ล้านบาท
สแกนสถานการณ์ธุรกิจ
“ภาวุธ” มองว่า ในฝั่งของแกร็บการเติบโตด้านกำไรมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจเรียกรถ ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่มีคู่แข่งแล้ว ทั้งยังเป็นพื้นฐานให้กับการขนส่งอาหาร และของชำต่าง ๆ ดังนั้นหากบริษัทต้องการทำ “กำไร” เพิ่มอาจมีผลกระทบกับพาร์ตเนอร์คนขับ (ไรเดอร์) ก็เป็นได้
“สังเกตได้จากค่าตอบแทนการวิ่งงานของไรเดอร์ที่ปรับลดลง จากช่วงแรก ๆ ค่าวิ่งงานอยู่ที่ 40 บาท ตอนนี้อยู่ที่ 28 บาท เป็นต้น”
เมื่อดูข้อมูลจาก CredenData พบว่า ผลประกอบการของไลน์แมน ปี 2565 มีรายได้ 7.8 พันล้านบาท ขาดทุน 2,730 ล้านบาท เช่นกันกับ “ฟู้ดแพนด้า” ในภาพรวมทั้งหมด ทั้งบริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย), เดลิเวอรี่ ฮีโร่ สโตร์, เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โปรโมชั่น, เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โลจิสติกส์, เดลิเวอรี่ ฮีโร่ คิทเช่นส์ และเดลิเวอรี่ ฮีโร่ คลาวด์ คิทเช่นส์ ยังเผชิญภาวะขาดทุน
แต่เทียบปี 2565 กับปีก่อนหน้าถือว่า ขาดทุนลดลง โดยปี 2564 มีรายได้ 6,786 ล้านบาท ขาดทุน 4,721 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 มีรายได้ 6,755 ล้านบาท ขาดทุน 3,609 ล้านบาท
“โรบินฮู้ด” เพิ่มดีกรีแข่งขัน
ส่วนแพลตฟอร์มสัญชาติไทย “โรบินฮู้ด” โดยบริษัท เพอเพิล เวนเจอร์ส ในเครือยานแม่ SCBx ที่เพิ่งได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเรียกรถจากกรมขนส่งทางบกเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ผลประกอบการปี 2564 มีรายได้ 15 ล้านบาท ขาดทุน 1,335 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 538 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนสูงถึง 1,986 ล้านบาท
“ภาวุธ” กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในส่วนของมาร์เก็ตเพลซ แม้ยากที่ใครจะเข้ามาแข่งกับลาซาด้า และช้อปปี้ได้ แต่ในธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มอื่น ๆ ยังมีผู้เล่นหลายราย เช่น ธุรกิจส่งอาหารหรือฟู้ดดีลิเวอรี่ จะมีทั้งแกร็บ, ไลน์แมนวงใน, ฟู้ดแพนด้า และโรบินฮู้ด โดยโรบินฮู้ดเพิ่งมีการเพิ่มทุนรอบใหม่ เช่นเดียวกับ “ไลน์แมนวงใน”
“การที่บริษัทมีการเพิ่มทุนหรือระดมทุนเพิ่ม หมายความว่าจะยังแข่งขันได้อีกนาน สำหรับฟู้ดแพนด้าแม้ผลประกอบการจะมีขาดทุนสะสมมากถึงเกือบหมื่นล้านบาท แต่ก็กำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ และมีแนวโน้มว่าผลประกอบการจะขาดทุนน้อยลงด้วย”