ยักษ์แพลตฟอร์ม Shopee-Lazada-Grab พลิกทำกำไรในรอบ 10 ปี

ผลประกอบการ Shopee Lazada Grab

ส่องผลงานยักษ์แพลตฟอร์มดิจิทัล “Shopee-Lazada-Grab” ผลประกอบการปี 2565 พลิกทำกำไรในรอบ 10 ปี ยึดสมรภูมิอีคอมเมิร์ซ-ออนดีมานด์ ดีลิเวอรี่ไทย

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ผลประกอบการของบริษัท 3 แห่ง ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ได้แก่ Grab (แกร็บ) Shoppee (ช้อปปี้) และ Lazada (ลาซาด้า) ณ สิ้นปี 2565 กลับมาทำกำไรแล้ว หลังจากทั้งสามรายดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาแล้ว 8-10 ปี

จากการตรวจสอบข้อมูลภายในเว็บไซต์ CredenData.co ผู้ให้บริการข้อมูลทางธุรกิจในประเทศไทย พบว่า Grab (แกร็บ) ณ สิ้นปี 2565 มีรายได้จำนวน 15,197 ล้านบาท เป็นกำไรกว่า 652ล้านบาท ซึ่งถือเป็นปีแรกที่บริษัทสามารถพลิกจากผลประกอบการขาดทุนมาเป็นกำไรได้

หลังจากเริ่มต้นธุรกิจแรก คือ ธุรกิจเรียกรถ ในนาม บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว และประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2562 ขาดทุนหนักถึง 1,650 ล้านบาท

เมื่อย้อนกลับไปดูผลประกอบการในปี 2564 พบว่าธุรกิจเรียกรถของ Grab มีรายได้รวม 11,218 ล้านบาท แต่ยังคงขาดทุนสุทธิ 325 ล้านบาท จนกระทั่งในปี 2565 รายได้เติบโตจากปี 2564 ถึง 33.6% มาอยู่ที่ 15,197ล้านบาท และพลิกกลับมาทำกำไรสุทธิ 576 ล้านบาท หรืออัตรากำไรเติบโตปีต่อปีสูงถึง 277.13%

สำหรับ ธุรกิจด้านอื่น ๆ ของกลุ่ม Grab ณ สิ้นปี 2565 เช่น

Advertisment

บริษัท GFin Services ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อ มีรายได้เติบโต 32.44% รวม 997 ล้านบาท กำไรสุทธิ 81 ล้านบาท

อีกบริษัท คือ GPay Network ซึ่งให้บริการการระบบชำระเงินบนเครือข่าย G Wallet ของ grab มีรายได้ 394 ล้านบาท ขาดทุน 4 ล้านบาท

Advertisment

เมื่อรวมทั้ง 3 บริษัทในกลุ่ม Grab พบว่ามีรายได้ อยู่ที่ 16,589 บาท และมีกำไรรวม 652 ล้านบาท

เจาะสมรภูมิอีคอมเมิร์ซ

ฝั่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่เป็น มาร์เก็ตเพลซ หลังจากที่ JD Central ถอนตัวออกจากตลาดไทยไปเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้เหลือผู้เล่นรายใหญ่ 2 ราย คือ Shoppee และ Lazada

จากการตรวจสอบข้อมูลใน CredenData พบว่า ผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2565 ของ Shoppee เติบโตอย่างร้อนแรง โดยบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวม 21,709 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิสูงถึง 2,380 บาท หรือกำไรโตกว่า 147% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 13,322 ล้านบาท และยังขาดทุนถึง 4,972ล้านบาท

นอกจากนี้ ในภาพรวมของธุรกิจของช้อปปี้ที่เติบโตอย่างโดดเด่นตามกันมาคือ ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส หรือ บริษัท เอสพีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการส่งด่วนพัสดุ พบว่า มีรายได้ ณ สิ้นปี 2565 รวมอยู่ที่ 16,765 ล้านบาท กำไร 932 ล้านบาท หรือโตกว่า 421% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้ 15,000 ล้านบาท ขาดทุน 289 ล้านบาท

ทางด้าน Lazada ยักษ์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอีกราย จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัท ลาซาด้า จำกัด ณ สิ้นปี 2565 มีรายได้สูงถึง 20,675 ล้านบาท และมีกำไร 413 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2564 มีรายได้ 14,675 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรอยู่ 226 ล้านบาท


รายได้ ผลประกอบการ Shopee รายได้ ผลประกอบการ Lazadaรายได้ ผลประกอบการ Grab

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า Lazada นับเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแรกที่ทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2564 และเติบโตอย่างรุนแรง กล่าวคือ ในปี 2563 Lazada ขาดทุนถึง 3,988 ล้านบาท แต่ภายในปีต่อมา กลับพลิกมาทำกำไรได้ 226 ล้าน หรือมีการเติบโตทางกำไรมากถึง 105.7%