SOdA PrintinG โลดแล่นในโลกธุรกิจในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าพรีเมี่ยมและของขวัญที่มาพร้อมกับสโลแกน “ของขวัญแบบนี้มีชิ้นเดียวในโลก” โดยเป็นแบรนด์ที่ประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ในการทำการตลาดได้อย่างโดดเด่น ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีสินค้าดาวเด่นที่หลายคนคงเคยเห็นผ่านตาในโลกออนไลน์อย่าง “กรอบภาพแคนวาส” นั่นเอง
แต่การแข่งขันในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของกฎระเบียบบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่แทบเปลี่ยนรายวัน, ค่าโฆษณาที่แพงขึ้นเท่าตัว, การแสดงผลบนโซเชียลมีเดียที่ต่างจากในอดีต
รวมถึงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ SOdA PrintinG ต้องขบคิดหากลยุทธ์และปรับแผน เพื่อหาทางรอดและสร้างโอกาสในการเติบโต
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ธีรศานต์-ธวัชชัย สหัสสพาศน์” 2 พี่น้อง ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหาร SOdA PrintinG เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจใหม่ “ช้อปเถอะ” (Shopter) แพลตฟอร์มขายสินค้ารูปแบบใหม่ที่สร้างรายได้ให้ “ครีเอเตอร์” ที่ต้องการขายสินค้าแบรนด์ของตนเอง
SOdA PrintinG โต้คลื่นแข่งขัน
ดร.ธีรศานต์กล่าวว่า ในยุคแรก ๆ ของการทำ SOdA PrintinG ตลาดออนไลน์รุ่งเรืองมาก เพราะคนตื่นเต้นกับการซื้อของบนโซเชียลมีเดีย ส่วนคนขายยังมีน้อย แต่พอการขายของออนไลน์ได้รับความนิยม คนขายมากขึ้น ต้องแข่งกันโฆษณา และเฟซบุ๊ก (Facebook) เริ่มลดอัตราการแสดงผลโพสต์ จึงเริ่มรู้สึกว่าถ้าสภาพตลาดยังเป็นลักษณะนี้คงไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวอย่างแน่นอน
“ผมเริ่มจากการดูงานในโซนยุโรปและอเมริกา แต่พบว่าบริบทบ้านเขาไม่เหมือนกับบ้านเรา เขานิยมซื้อของออนไลน์ผ่านเว็บ ซึ่งคนไทยไม่ใช่แบบนั้น เลยหันมาดูฝั่งจีนแทน เพราะที่จีนมีการขายของออนไลน์ในรูปแบบแชต ตอนนั้นผมบินไปจีนทุกเดือน เวียนเมืองไปเรื่อย ๆ จ้างนักศึกษาไทยพาทัวร์ เพื่อศึกษาว่าเขาค้าขายผ่านแชตกันอย่างไร และก็พบว่าเทรนด์วิดีโอสั้นแบบ TikTok มาแรงมาก แต่คนไทยยังไม่รู้จัก จากนั้นจึงเริ่มนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์ของคนไทยมากขึ้น”
ครีเอตแพลตฟอร์ม Shopter
ดร.ธีรศานต์กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ SOdA PrintinG อย่างหนัก เพราะอีเวนต์ต่าง ๆ ไม่สามารถจัดได้ตามปกติ ลูกค้าไม่มีความจำเป็นต้องสั่งทำของขวัญ ทำให้ยอดขายลดลงอย่างมาก รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำงานด้วยกันก็ขาดรายได้ จึงเริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจที่จะช่วยให้อยู่รอดทั้งสองฝ่าย จนเกิดเป็น “Shopter”
“Shopter เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าแบบ revenue sharing ที่แบ่งรายได้ระหว่างเรากับครีเอเตอร์ที่ต้องการสร้างแบรนด์ของตนเอง ครีเอเตอร์มีหน้าที่แค่ออกแบบลายสินค้า และเอาลิงก์หน้าร้านไปแปะที่ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อโปรโมต ส่วนเราจะดูแลระบบหลังบ้านให้ทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตสินค้า การจัดการสต๊อก ตอบแชตลูกค้า และส่งสินค้า”
ธวัชชัยเสริมว่า Shopter เป็นธุรกิจที่เข้ามาช่วยเติมเต็มยอดขายในช่วง low season ของการสั่งของขวัญเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ ด้วย อย่างช่วงกลางปีจะมียอดขายน้อยกว่าต้นปี หรือปลายปีที่มีงานเกษียณอายุ, คริสต์มาส, ปีใหม่ และวาเลนไทน์
“แต่เดิม SOdA PrintinG มีแค่ธุรกิจแบบ B2B หรือการผลิตสินค้าให้องค์กรต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30% และธุรกิจแบบ B2C หรือการผลิตจำนวนชิ้นน้อย ๆ ให้ลูกค้าที่ต้องการของขวัญพิเศษ ไม่ซ้ำใคร เป็นลักษณะ print on demand หรือทำตามสั่ง คิดเป็นสัดส่วน 50% ขณะที่ Shopter เป็นโมเดลธุรกิจที่ผสมกันระหว่าง B2B และ B2C ช่วยให้เราผลักดันยอดขายทั้งสองส่วนไปพร้อม ๆ กันได้ ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20%”
“เทคโนโลยี” แต้มต่อธุรกิจ
แพลตฟอร์ม Shopter ใช้จุดแข็งด้านโซเชียลมีเดียที่ SOdA PrintinG ทำได้ดีในการขับเคลื่อนธุรกิจ เข้ากับ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ที่เป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้า เพราะเข้ากับวิถีการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยมากที่สุด
“คนไทยชอบความสะดวกสบายในการซื้อของ และชอบซื้อของผ่านแชต เพราะรู้สึกว่าได้พูดคุยรายละเอียดกับร้านค้า ร้านของ Shopter จึงใช้แนวคิดนี้เช่นกัน โดยครีเอเตอร์แต่ละคนจะมีลิงก์ร้านของตนเอง ในชื่อ “shopter.co/ชื่อร้านค้า” ที่คลิกแล้วจะเป็นหน้าร้านบน LINE Shopping รวมถึงยังมีอินฟลูเอนเซอร์อีกกลุ่มช่วยนำลิงก์ของร้านค้าไปโปรโมต เราจะให้ส่วนแบ่งน้อง ๆ กลุ่มนี้ 10%” ดร.ธีรศานต์กล่าว
นอกจากนี้ ทีมงานของ Shopter มีการจัดทำแดชบอร์ดข้อมูลยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าขายดี กลุ่มลูกค้าหลัก พื้นที่ที่มีการจัดส่งเป็นจำนวนมาก และอื่น ๆ ซึ่งการมีข้อมูลอยู่ในมือช่วยให้ออร์เดอร์วัสดุการผลิตในปริมาณที่เหมาะสม และวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตสินค้าของลูกค้าหลายคนได้ในการทำงานครั้งเดียว แก้ปัญหาการผลิตของโรงพิมพ์แบบดั้งเดิมที่เน้นผลิตจำนวนมาก รวมถึงยังแนะนำครีเอเตอร์ได้ว่าควรขายสินค้าประเภทใดมากกว่ากัน
“ธวัชชัย” กล่าวว่า จุดเด่นของ Shopter คือการผลิตสินค้าแบบเรียลไทม์ การผลิตแต่ละครั้งต้องใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน เพราะการขายสินค้าออนไลน์ต้องเน้นเร็ว ถ้าส่งของช้าก็แข่งกับเจ้าอื่นไม่ได้ รวมถึงมีผลต่อไทม์ไลน์การผลิตสินค้าทั้งหมดด้วย
เพราะในโรงงานมีงานของ SOdA และ OEM อยู่แล้ว จึงต้องวางแผนการผลิตให้ไม่ทับซ้อนกัน อย่าง OEM ก็อาจวางไทม์ไลน์ไว้ที่ 7-10 วัน เพื่อให้งานของ Shopter ผลิตก่อน และมีพร้อมขายที่หน้าออนไลน์เสมอ
ถอดรหัส “ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว” ยุคใหม่
ดร.ธีรศานต์กล่าวว่า การมีอยู่ของ Shopter ช่วยให้ธุรกิจของ SOdA PrintinG มั่นคงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เพราะนอกจากงานของครีเอเตอร์จะช่วยสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอแล้ว ยังทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อชิ้นลดลง เนื่องจากบริษัทสามารถสั่งผ้าหรือวัสดุอื่น ๆ ได้ในปริมาณที่มากขึ้น
“ในอดีตเราต้องคอยมาลุ้นว่าการยิงแอดของ SOdA จะไปถึงกลุ่มเป้าหมายไหม แล้วเขาจะมาซื้อสินค้าของเราหรือเปล่า Shopter เข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ และทำหน้าที่เหมือนแขนขาที่พาแบรนด์ของเราไปสู่ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น คล้ายกับโมเดล ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ของธุรกิจดั้งเดิม ที่มีคนรับของไปขายตามร้านรวงต่าง ๆ”
สำหรับส่วนแบ่งรายได้ระหว่างครีเอเตอร์ และ SOdA PrintinG จะอยู่ที่ 30% และ 70% ตามลำดับ
ย้ำจุดแข็งคอมมิวนิตี้ครีเอเตอร์
แม้ว่า Shopter จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีอายุเพียง 2 ปีกว่า ๆ แต่ปัจจุบันมีร้านค้าของครีเอเตอร์อยู่ในความดูแลกว่า 200 ร้าน จากที่ในช่วงแรกต้องตามหาครีเอเตอร์อย่างหนัก และมีร้านค้าอยู่ในความดูแล 30-40 ร้านเท่านั้น
“เราตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนครีเอเตอร์อีก 100 ราย ภายในปีนี้ แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นต้องมาพร้อมกับคุณภาพด้วย เราต้องการครีเอเตอร์ที่มีความตั้งใจจริง ไม่ได้มาทำเพียงชั่วครู่ชั่วคราวแล้วก็ไป ทำให้ต้องตั้งเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น เพราะเราเจอความผิดหวังมาเยอะ แต่ก็เข้าใจว่าเป็น pain point ของระบบที่เข้ามาง่าย และออกไปง่ายเช่นกัน”
“ดร.ธีรศานต์” กล่าวถึงวิธีการหาครีเอเตอร์มาเข้าร่วมกับ Shopter ด้วยว่า มีทั้งการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเปิดร้านสินค้าพรีเมี่ยมอยู่แล้ว เช่น กระเป๋า เสื้อยืดสกรีนข้อความ หรือภาพวาด ผ้าห่มลายน่ารัก ๆ ฯลฯ และการชักชวนศิลปินฝีมือดีมาเปิดร้านด้วยกัน รวมถึงสนับสนุนองค์กรหรือชุมชนขนาดเล็กในการเปิดร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อหารายได้ไว้ใช้ในการจัดกิจกรรมเพิ่มเติม
“ในแง่การบริหารองค์กร เราพยายามเน้นเรื่องความยั่งยืน เพราะเชื่อว่าถ้ายังทำธุรกิจแบบเดิมอาจได้รับผลกระทบจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าจีนที่ต้นทุนถูกมาก การอยู่ในตลาดออนไลน์ ตอนขายดีก็ดีจนใจหายแต่พอยอดหายก็จะช้ำใจสุด ๆ ยิ่งตอนนี้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เปลี่ยนกฎตลอดเวลาจะหวังพึ่งการยิงแอดอย่างเดียวคงไม่ได้ ความแข็งแกร่งของคอมมิวนิตี้ครีเอเตอร์จึงเป็นจุดแข็งที่ช่วยให้แข่งขันได้ในระยะยาว และทำให้เรากับน้อง ๆ ครีเอเตอร์เติบโตไปพร้อม ๆ กัน”