กูรูอีคอมเมิร์ซเขย่า TikTok โกยรายได้อู้ฟู่ ย้ำไทยขาดดุลดิจิทัลหนัก

ภาวุธ-TikTok
ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ

“ภาวุธ” กูรูอีคอมเมิร์ซ ชี้ไทยขาดดุลดิจิทัลหนัก เหตุบิ๊กเทคข้ามชาติไม่ลงรายได้ในไทยตามจริง ชงทีมผู้บริหารในไทยทำหน้าที่ดึงเม็ดเงินจริงเข้าประเทศ

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TARAD.com ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท และการดำเนินธุรกิจของแพลตฟอร์มต่างประเทศในไทยว่า TikTok ประเทศไทย ใช้ชื่อบริษัทว่า “บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด” ทุนจดทะเบียน 210 ล้านบาท (เปิดมา 2 ปีกว่า) ปีที่แล้วมีรายได้ 786 ล้านบาท มีกำไร 46.9 ล้านบาท

DAAT (สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand)) ประกาศว่า คนไทยจ่ายเงินให้กับ TikTok Ads 840 ล้านบาท เข้าใจว่าเป็นบริษัทที่มีการจ้างคนทำงาน และจ่ายเงินเดือนจากบริษัทนี้ รวมถึงมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ติ๊กต๊อก พีทีอี. แอลทีดี. ประเทศสิงค์โปร์

“ตอนนี้ต้องมาลุ้นกันว่าเขาจะนำรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย บันทึกลงประเทศไทยหรือเปล่า เราลองมาดูตัวอย่างบริษัทข้ามชาติที่น่ายกย่อง คือบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด (LINE ประเทศไทย) ปีที่แล้วบันทึกรายได้ในประเทศไทย 6,396 ล้านบาท กำไร 268 ล้านบาท เรียกได้ว่ารายได้เกิดในประเทศ ก็บันทึกลงในประเทศ น่ายกย่องมาก ๆ”

นอกจากนี้ นายภาวุธยังกล่าวถึงบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่กลับบันทึกรายได้ในประเทศไทยเพียงเล็กน้อย เช่น Facebook และ Google เป็นต้น

“Facebook (Thailand) มีรายได้ปีก่อน 463 ล้าน กำไร 5 ล้านบาท (ข้อมูล DAAT บอกว่าคนไทยจ่ายโฆษณากับ Facebook 8,691 ล้านบาท แต่ไฉนลงไทยแค่จึ๋งเดียว หรือพี่ใหญ่อย่าง Google (Thailand) ที่ปีก่อนมีรายได้ 1,336 ล้านบาท มีกำไร 59 ล้านบาท แต่ทาง DAAT บอกว่าเราจ่ายเงิน Youtube + Google=5,435 ล้านบาท หายไปไหนอีก 4 พันกว่าล้าน”

ADVERTISMENT

“ทั้งสองบริษัทนี้สร้างรายได้จากคนไทยจริง ๆ รวม ๆ กันนับหมื่นล้าน แต่โยกรายได้ออกไปจนเหลือนิดเดียว เสียภาษีให้ประเทศไทยนิดเดียว ไม่แฟร์กับประเทศเราเลย (จริง ๆ เขาทำแบบนี้แทบทุกประเทศทั่วโลก)”

ทั้งนี้ สิ่งที่จะตามมาจากการบันทึกรายได้ในลักษณะดังกล่าวคือ “การขาดดุลการค้าดิจิทัล” ซึ่งนายภาวุธกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่เคยนำตัวเลขนี้มารวมกับตัวเลขการขาดดุลการค้าของประเทศ ซึ่งตนได้เข้าไปคุยกับภาครัฐหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เลย

ADVERTISMENT

“เรื่องนี้ผมกับคนออนไลน์เข้าไปคุยกับสรรพากรมาหลายปีแล้ว จนผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย E-Service Tax ที่เก็บภาษี VAT กับบริษัทต่างชาติที่สร้างรายได้กับคนไทย (จริง ๆ คนที่จ่ายภาษี VAT ก็คนไทยกันเอง) เราเก็บได้แค่เศษ ๆ 7% เท่านั้น แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย”

ก่อนหน้านี้ นายภาวุธได้เคยอธิบายเกี่ยวกับ “การขาดดุลการค้าดิจิทัล” บนเว็บบล็อกส่วนตัวว่า จากข้อมูลของกรมสรรพกรที่มีการเปิดเผยตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) ที่คนไทยจ่ายออกไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564-ม.ค. 2565 (รวม 5 เดือน) พบว่า

โดยกรมสรรพกรได้ภาษี VAT 3 พันกว่าล้านบาท จากผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพกรจำนวน 127 ราย (หากอ้างอิงจากข้อมูลการแจ้งการประกอบธุรกิจ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปตามกฎหมาย DPS หรือ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ณ วันที่ 22 พ.ย. 2566 มีทั้งสิ้น 835 แพลตฟอร์ม) แต่เดิมคาดการณ์ว่าจะเก็บภาษีส่วนนี้ได้ราว 3-5 พันล้านบาท แต่กลับจัดเก็บได้ถึง 3 พันล้านบาท ในเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น

“ผมคาดการณ์ว่าคนไทยจะจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศปีนึงสูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปปี 2564 ที่มีเพียงแค่ 172,750 ล้านบาท หรือเทียบกับการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 มีเพียง 107,758 ล้านบาท สรุปง่าย ๆ คนไทยต้องส่งออกข้าวเพิ่มเป็น 2 เท่า ถึงจะเท่ากับการที่คนไทยเสียเงินให้กับบริการออนไลน์จากบริษัทต่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม นายภาวุธยังฝากถึงทีมผู้บริหารคนไทยของบริษัทข้ามชาติที่มีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ด้วยว่า งานนี้ต้องมาวัดความใจถึงของ TikTok (Thailand) แล้วว่าจะจริงใจกับคนไทย ประเทศไทยแบบคนเอเชียด้วยกันหรือเปล่า ? จะทำตัวเป็นเหมือนบริษัทจากโลกตะวันตกที่ขนเงินออกไปนอกประเทศอย่างที่ผมบอกไปข้างต้นหรือเปล่า?

“เกมนี้ต้องฝากทีมผู้บริหารคนไทยที่บริหาร TikTok (Thailand) ขอให้พยายามดึงเม็ดเงินที่ทำในไทย ให้บันทึกรายได้ลงในไทยให้ได้นะครับ เป็นกำลังใจให้ เพราะถ้าไม่ได้อาจจะต้องพึ่งกำลังของรัฐบาลไทยแล้วว่าจะทำอย่างไรถึงจะดึงเม็ดเงินมาลงในประเทศให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แบบที่เขามาหากินกับคนไทยแบบเต็มที่แบบนี้”